วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน
            ทนายคลายทุกข์ขอนำความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน      จากหนังสือ ครอบครัว  โดยประสพสุข  บุญเดช ซึ่งเป็นเรื่องสมาชิกสอบถามเข้ามาที่ทนายคลายทุกข์เป็นจำนวนมาก  ว่าจะถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  จะมีส่วนในทรัพย์สินหรือไม่  ซึ่งท่านที่กำลังมีปัญหาเรื่องทรัพย์สิน  สามารถศึกษาได้จากข้อมูลที่ทนายคลายทุกข์นำมาเสนอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในหนังสือของคุณประสพสุข 
สามีภริยาได้ทำการสมรสกัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2478  ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ได้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5  แล้ว   โดยมิได้จดทะเบียนกันนั้น  ไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  เพราะมาตรา 1457  บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่า  การสมรสจะมีได้เมื่อได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วเท่านั้น  ชายและหญิงที่อยู่ด้วยกันดังกล่าวจึงไม่เป็นคู่สมรสต่อกัน  บุตรที่เกิดมาก็ถือว่าเป็นบุตรของหญิงฝ่ายเดียว  สินส่วนตัวและสินสมรสไม่เกิดขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามทรัพย์สินที่ชายหญิงคู่นี้ได้ลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกัน  ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันนั้น  ถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกันและมีส่วนในทรัพย์สินเหล่านั้นคนละครึ่งเท่ากัน  ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรม  เพราะการที่ชายหญิงแต่งงานกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  แม้ทางกฎหมายจะไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ก็หาการกระทบกระเทือนถึงสิทธิในทรัพย์สินที่ชายหญิงจะพึงมีได้ตามกฎหมายทั่วไปไม่ 
ตัวอย่างเช่น  สามีภริยาไม่ได้จดทะเบียน  หญิงขายทรัพย์ของตนเองเอาไปซื้อที่ดินและกระบือลงชื่อชายถือกรรมสิทธิ์ทำกินร่วมกันมา  ชายตาย  ถือว่าชายหญิงเป็นเจ้าของร่วมกัน  หรือ หญิงชายอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  ได้ร่วมกันซื้อนาและทำกินเป็นการแสดงเจตนาให้ถือได้ว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน  ส่วนเงินที่ซื้อฝ่ายใดจะยืมใครมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์  เพราะหญิงคนนั้นระคนปนทรัพย์กันใช้สอยและทำมาหากินด้วยกัน  ต้องถือว่าต่างมีสิทธิเป็นเจ้าของคนละครึ่ง  เป็นต้น  หลักการเช่นว่านี้ในต่างประเทศ เช่น  สหรัฐอเมริกา  ศาลอุทธรณ์แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย  ก็ได้วินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่า  แม้สามีภริยามิได้สมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย  แต่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ด้วยกันก็จะต้องนำมาแบ่งปันเป็นคนละครึ่งเช่นเดียวกัน  อย่างไรก็ดีสำหรับทรัพย์สินที่ต่างคนต่างทำมาหาได้แยกกันนั้นเป็นสิทธิของฝ่ายนั้นผู้เดียว  อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีส่วนแบ่งด้วยเพราะไม่ถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474(1) ฉะนั้น  สามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันสามีจึงไม่มีสิทธิฟ้องของแบ่งทรัพย์จากภริยาในส่วนทรัพย์ที่สามีมิได้ร่วมแรงร่วมทุนทำมาหาได้กับภริยาแต่อย่างใด
การลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกัน  โดยหลักการแล้วหมายถึงการที่ชายและหญิงร่วมกันทำการค้าหรือดำเนินกิจการใดโดยเฉพาะเจาะจงแล้วได้เงินหรือทรัพย์สินมา  เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวจึงจะถือว่าชายและหญิงเป็นเจ้าของร่วมกันในส่วนเท่ากัน  หากชายรับราชการได้เงินเดือนเดือนละ 15,000  บาท  เงินเดือนและค่าจ้างเป็นของชายหรือหญิง เช่นว่านี้เป็นของตนเองโดยเฉพาะ หรือหญิงได้รับมรดกเป็นที่ดิน 3 แปลง  ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวก็เป็นของหญิงโดยลำพังเช่นเดียวกัน  การที่ชายหญิงมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน  ชายประกอบกิจการค้าส่วนหญิงอยู่บ้านเลี้ยงบุตร  ดูแลบ้าน  ทำอาหารเลี้ยงดูครอบครัวเป็นเวลาหลายปี  มีทรัพย์สินหลายสิ่งหลายอย่างเพิ่มขึ้น  จะถือว่าการที่หญิงเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว  เป็นการลงทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกันกับชาย  จึงมีส่วนแบ่งในทรัพย์สินส่วนนี้หรือไม่  ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ในปี 2512  ว่า  การที่หญิงดูแลครอบครัวให้ชายเป็นการร่วมกันกับชาย  ทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติร่วมกันแล้ว  ชายหญิงจึงมีส่วนในทรัพย์สินดังกล่าวเท่า ๆ กัน
มีข้อน่าสังเกตว่า การที่ถือหลักว่าหญิงอยู่บ้านดูแลครอบครัวให้ชายที่ออกไปทำงานนอกบ้านได้มีชีวิตอยู่ด้วยความผาสุกเป็นการร่วมทุนร่วมแรงทำมาหาได้ร่วมกับชาย  อาจเป็นเหตุจูงใจให้ชายและหญิงมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนกันให้ถูกต้องตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น  เพราะแทบไม่มีผลแตกต่างกันกันในทางทรัพย์สินระหว่างการที่ชายหญิงจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่  ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดหามาได้โดยลำพัง  อีกฝ่ายหนึ่งก็ยังคงมีส่วนแบ่งคนละครึ่งเช่นเดียวกับสินสมรส  โดยหลักการแล้วการที่ชายและหญิงมิได้เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย  ต่างฝ่ายต่างไม่มีหน้าที่ต้องอยู่ด้วยกันฉันสามีภริยาหรืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน  ฉะนั้นหญิงที่อยู่บ้านดูแลครอบครัวน่าจะเป็นเพียงการมีส่วนร่วมในการอยู่รวมกันโดยใช้แรงงานแทนเงินค่าเช่าบ้านและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เท่านั้น  หาใช่เป็นการลงทุนร่วมแรงทำมาหากินด้วยกันกับชายอย่างแท้จริงไม่  หญิงเองก็มีความผาสุกในการกระทำดังกล่าวเช่นเดียวกับชายเหมือนกัน  ในประเทศอังกฤษเมื่อปี 2527  มีคดีที่ชายหญิงภริยาคู่หนึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยามาเป็นเวลานานถึง 19 ปี โดยหญิงต้องลาออกจากงานมาดูแลบ้านและครอบครัวซึ่งมีบุตรด้วยกัน 2 คน  ชายหญิงคู่นี้มีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในบ้านที่บุคคลทั้งสองใช้เป็นที่อยู่อาศัย  ศาลวินิจฉัยว่าหญิงไม่มีส่วนร่วมในการได้มาซึ่งบ้านหลังนี้  จึงไม่มีส่วนแบ่งใด ๆ ในบ้านดังกล่าวแม้ว่าหญิงจะทำงานหนักมาหลายปีเท่ากับชายในค้ำจุนครอบครัวในแง่ของครอบครัวก็ตาม  ฉะนั้นจึงน่าจะต้องรอดูต่อไปว่า  ศาลฎีกาจะยังคงยืนยันหลักการเดิมหรือจะเปลี่ยนหลักการมาทำนองเดียวกับคดีของศาลอังกฤษเช่นว่านี้ในโอกาสต่อไป
สำหรับการที่ชายกับชายก็ดี  หรือหญิงกับหญิงก็ดี  มาอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยานั้น  เนื่องจากบุคคลทั้งสองไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้  เพราะขัดต่อเงื่อนไขของการสมรสที่ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นชาย  และอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นหญิง  แต่ในทางด้านทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองทำมาหาได้ด้วยกันในระหว่างอยู่กินด้วยกันนี้  ต้องถือว่าบุคคลที่สองมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกัน  โดยมาตรา 1357  ให้สันนิษฐานว่าผู้เป็นเจ้าของร่วมกันมีส่วนเท่ากัน  จึงต้องแบ่งกันคนละครึ่งเคยมีคดีที่โจทก์เป็นหญิงแต่มีนิสัยและทำตัวเป็นชาย  มีอาชีพขายเนื้อโค  กระบือ  ส่วนจำเลยก็เป็นหญิงมีอาชีพเป็นนักร้อง  โจทก์และจำเลยได้มาอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกันโดยจำเลยเลิกอาชีพดังกล่าวและทำพิธีเข้าถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับโจทก์  ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันมาเกิดมีทรัพย์สินคือ  ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 3 แปลง  โดยที่ดินทั้งสามแปลงนี้มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์  โจทก์จึงมาฟ้องขอแบ่งที่ดินดังกล่าว   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  แม้โจทก์จำเลยเป็นหญิงไม่สามารถจะเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย  แต่ตามพฤติกรรมที่บุคคลทั้งสองได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลาเกือบ 20 ปี  โดยจำเลยทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน  แต่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เองว่าบางครั้งจำเลยก็มาช่วยโจทก์ขายเนื้อในตลาด  ในการซื้อ โค  กระบือนั้น  หากจ่ายเป็นเช็คก็ใช้เช็คของจำเลย  แสดงให้เห็นว่าโจทก์จำเลยได้ร่วมกันทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติของโจทก์จำเลยร่วมกัน  บรรดาทรัพย์ที่โจทก์หรือจำเลยทำมาหาได้ระหว่างนั้น  ไม่ว่าจะเป็นด้วยแรงหรือเงินของฝ่ายใดหาใช่ข้อสำคัญไม่  แต่ต้องถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างที่โจทก์จำเลยอยู่ร่วมกัน  จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายและความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่งที่จะให้โจทก์และจำเลยมีส่วนในทรัพย์สินที่พิพาททั้งหมดคนละกึ่งหนึ่ง  พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงนี้ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
            ในกรณีที่ชายมีภริยาชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว  แต่มาได้หญิงอีกคนหนึ่งเป็นภริยาน้อยชายและภริยาน้อย  ร่วมกันทำมาหาได้ทรัพย์สินใดมา  ทรัพย์สินที่ได้มานี้เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างชายกับภริยาน้อย โดยภริยาน้อยมีส่วนครึ่งหนึ่ง  อีกครึ่งหนึ่งที่เป็นของชายเป็นสินสมรสชายกับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ถ้าภริยาน้อยไม่มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้  ทรัพย์สินที่ได้มาเป็นสินสมรสระหว่างชายกับภริยาหลวงทั้งหมด  เช่น  ชายกับภริยาน้อยร่วมกันทำการค้าได้กำไรไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง  หากจะต้องแบ่งที่ดินแปลงนี้ให้ภริยาน้อยครึ่งหนึ่งภริยาหลวงได้เศษหนึ่งส่วนสี่  และชายได้เศษหนึ่งส่วนสี่ เป็นต้น  การร่วมกันทำมาหาได้ทรัพย์สินนี้น่าจะไม่จำเป็นต้องร่วมกันทำการค้า  หรือดำเนินกิจการโดยเฉพาะเจาะจงแม้เพียงชายไปทำมาค้าขายโดยตนเอง  ส่วนภริยาน้อยเลี้ยงดูบุตรเป็นแม่บ้านอยู่รวมกันกับชายในบ้านหลังเดียวกัน  ก็อาจจะถือว่าร่วมกันทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นของชายและภริยาน้อยร่วมกันได้  แต่ทั้งนี้ชายและภริยาน้อยต้องมีถิ่นที่อยู่ต่างตำบลกันกับภริยาหลวงและมีทรัพย์สินอยู่ ณ ตำบลที่อยู่ของแต่ละคน  แสดงว่าได้แบ่งแยกเป็นส่วนสัดแล้ว  หากสามี ภริยา และภริยาน้อยอยู่ร่วมบ้านเรือนเดียวกันหรืออยู่บริเวณใกล้ชิดมีช่องทางเข้าออกถึงกันได้  ถือว่าภริยาน้อยเข้ามาอยู่ในครอบครัวของสามีในฐานะบริวารหรือนางบำเรอเท่านั้น  ภริยาน้อยไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของรวมในสินสมรสระหว่างสามีภริยาแต่อย่างใด

ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือครอบครัว  โดยคุณประสพสุข  บุญเดช  ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ

ฟ้องซ้อน             หลักกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 173 บัญญัติว่า นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้ ...