วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

การโอนสิทธิเรียกร้อง

ลักษณะของการโอนสิทธิเรียกร้อง
เป็นกรณีที่เจ้าหนี้แสดงเจตนาโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้แก่บุคคลอื่น  มีผลให้บุคคลผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนเจ้าหนี้คนเดิมและมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เช่นเจ้าหนี้คนเดิม

กรณีตัวอย่างการโอนสิทธิเรียกร้อง
- นาย ก. เจ้าหนี้เงินกู้ โอนสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่มีต่อ นาย ข. ลูกหนี้ให้ นาย ค. บุคคลภายนอก นาย ค. มีสิทธิเรียกร้องให้ นาย ข. ชำระหนี้เงินกู้แก่ตนได้
- นาย ก.สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าให้ นาย ข.   นาย ข. ต้องการใช้เงินจึงเอาเช็คไปขายต่อให้ นาย ค.  นาย ค. ย่อมรับโอนสิทธิตามเช็คมา

เปรียบเทียบการโอนสิทธิเรียกร้องกับการรับช่วงสิทธิ
การรับช่วงสิทธิเกิดขึ้นด้วยอำนาจของกฎหมาย ส่วนการโอนสิทธิเรียกร้องเกิดขึ้นโดยนิติกรรมสัญญาโดยการตกลงกันของคู่กรณี และจะโอนให้แก่ผู้ใดก็ได้โดยผู้รับโอนไม่จำต้องมีส่วนได้เสียในสิทธินั้นอยู่เดิม

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3316/2540
โอนสิทธิเรียกร้องนั้น เป็นการโอนสิทธิตามที่เป็นอยู่เดิมให้แก่ผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้แทน มิได้เปลี่ยนแปลงสิทธิแต่อย่างใด และโดยปกติลูกหนี้มีข้อต่อสู้เจ้าหนี้คนเดิมอย่างไรก็ยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนั้นได้รวมทั้งข้อต่อสู้เรื่องอายุความด้วย  ดังนั้น อายุความที่ลูกหนี้จะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้คนเดิมได้ เมื่อปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยกับเจ้าหนี้คนเดิม มีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34(1)  เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องฟ้องคดีเกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ที่ดินพิพาท คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2328/2561

ที่ดินพิพาทที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ (ส.ป.ก. 4 - 01) ให้แก่ผู้ใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนทางราชการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินก็ตาม แต่เมื่อทางราชการประกาศให้ที่ดินพิพาทตั้งอยู่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนควบของที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดครอบครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสี่หาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) จำเลยทั้งสี่ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสี่ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท จึงเป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป
ทนายความหาดใหญ่

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตัวอย่างโจทย์ กฎหมายแพ่งและพาณิยช์

ตัวอย่างโจทย์ จันทร์ว่าจ้างอังคารสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ของจันทร์ ขณะที่ทำสัญญามีคนอื่นอยู่ในที่ดินหลายครัวเรือนจึงทำสัญญาตกลงกันว่า จันทร์จะต้องขับไล่หรือจัดให้คนที่อยู่ในที่ดินออกไปให้หมดภายในวันที่ 20 มกราคม 2560 เพื่ออังคารจะได้เข้าทำการก่อสร้างทันที ปรากฏว่าสิ้นสุดวันที่ 20 มกราคม 2560 จันทร์ไม่ได้ขับไล่ใครเลย ยังคงมีคนอื่นอยู่ในที่ดินเหมือนเดิม ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะอะไร
กรณีตามปัญหามีหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะต้องนำมาประกอบการวินิจฉัย ดังนี้
มาตรา 207 วางหลักไว้ว่า ถ้าลูกหนี้ของปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าไม่รับชำระนั้นโดยปราศจากมูลเหตุที่จะอ้างกฎหมายได้ๆไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
มาตรา 209 วางหลักไว้ว่า ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อเจ้าหนี้กระทำการอันใด ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้จะต้องทำก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด
ข้อเท็จจริงตามปัญหา การที่จันทร์จ้างให้อังคารสร้างอังคารสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของตนเอง “โดยมีข้อตกลงกันว่าจันทร์ต้องจัดการไล่ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินออกไปให้หมดก่อนภายใน วันที่ 20 มกราคม 2560 เพื่ออังคารจะทำการสร้างอาคารพาณิชย์ได้” นั้นถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ต้องทำการบางอย่างในเวลากำหนดไว้แน่นอนก่อนที่จะให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ตามมาตรา 209
ต่อมาสิ้นสุดวันที่ 20 มกราคม 2560 ตามสัญญาแล้วปรากฏว่า จันทร์เจ้าหนี้ไม่ได้ไล่ผู้อาศัยในที่ดินจึงไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคารได้ตามสัญญา ถือว่า จันทร์เจ้าหนี้ไม่ทำการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คือการไล่ผู้อยู่อาศัยในที่ดินออกไปและส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคาร (ลูกหนี้) ทำให้จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัดทันที ตามมาตรา 207 ประกอบ 209 โดยที่อังคาร(ลูกหนี้) ไม่ขอปฏิบัติการชำระหนี้แต่ประการใด
สรุป จันทร์เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามมาตรา 207 ประกอบ 209      โดย...ทนายความหาดใหญ่

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้

ทนายความอาสา
การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้  แบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่สำคัญ
1.หลักเกณฑ์การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้
1.1 ลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องเหนือผู้อื่นที่มิใช่สิทธิเรียกร้องเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้
1.2 ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง
1.3การขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เป็นเหตุให้เจ้าหรนี้เสียประโยชน์
2.ขอบเขตและวิธีการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้
2.1 เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในนามของตนน้อง
2.2 เจ้าหนี้ต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย
2.3 เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้เต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้
2.4 บุคคลภายนอกอาจยกข้อต่อสู้ที่มีต่อลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้
3.ผลของการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ แม้การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะทำในนามของลูกหนี้แต่ก็เป็นการทำแทนลูกหนี้ ด้วยเหตุนี้ หากศาลพิพากษาให้ลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องชำระ สิ่งได้มาจากการชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพย์สินจะเป็นของลูกหนี้เดิมซึ่งเจ้าหนี้อื่นรวมทั้งตัวเจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องมีสิทธิบังคับชำระหนี้แก่ตนได้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เดิมนี้ ยกเว้นกรณี ตามมาตรา 234 วรรคหนึ่ง หากจำเลยยอมใช้เงินจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้ คือเจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้รับเงินโดยตรง จากลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องแล้วคดีเป็นอันเสร็จกันไป จะเรียกร้องอีกไม่ได้


วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14785/2555

คำพิพากษาย่อสั้น
ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ 25 มีนาคม 2542 แต่โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 โจทก์จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้น คดีในความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานความผิดนี้ จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเหตุเรื่องคดีขาดอายุความเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีขอแบ่งสินสมรส และบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรส แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันตามส่วน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายตามส่วนที่เป็นของตนเอง ส่วนการที่จำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2542 ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น หากจำเลยทั้งสองมีเจตนาก่อให้เกิดหนี้จริงก็เป็นหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีขอให้บังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติผิดข้อตกลงดังกล่าว ก็คงมีเพียงสิทธิบังคับคดีเอาจากสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อไม่พอจึงมีสิทธิบังคับเอาจากสินสมรสที่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 สิทธิในการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีผลกระทบสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในคดีที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ก็คงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงเฉพาะที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น หากแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลเกี่ยวกับมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ในคดีที่จำเลยที่ 2 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง ก็ไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้เลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จ

โทษทางอาญาคืออะไร ได้แก่อะไรบ้าง

โทษทางอาญา คือ สภาพบังคับของกฎหมายอาญาเมื่อมีการฝ่าฝืนกฎหมาย กำหนดประเภทของโทษไว้ 5 ประการ ได้แก่

1. ประหารชีวิต คือ การนำตัวไปยิงด้วยปืนให้ตาย

2. จำคุก คือ การนำตัวไปขังในเรือนจำตามที่กำหนดเวลาที่ศาลพิพากษา

3. กักขัง คือ การนำตัวไปกักขังหรือควบคุมไว้ ณ ที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ เช่น สถานีตำรวจ เป็นต้น

4. ปรับ คือ การลงโทษด้วยการปรับโดยให้ผู้กระทำผิดจ่ายเงินให้แก่รัฐ

5. ริบทรัพย์สิน คือ การริบเอาทรัพย์สินนั้นมาเป็นของรัฐ เช่น ปืนเถื่อน ไม้เถื่อน เหล้าเถื่อน เป็นต้น

## จำไว้ว่า ปรับ 500 ก็ ถือว่ามีโทษแรงกว่า ริบทรัพย์ 100 ล้าน เพราะ ปรับ คือ ปรับจากเงินที่หามาได้ ส่วนริบทรัพย์ คือ ริบจากลาภที่มิควรได้*

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คำพิพากษาฎีกา คดีอาญา

คำพิพากษาฎีกาที่  3887/2533  ฟ้องเท็จ
จำเลยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม เมื่อเอกสารที่ฟ้องไม่ใช่เอกสารปลอม ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นเท็จ  จำเลยย่อมมีความผิดฐานเอาความเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำผิดอาญา

คำพิพากษาฎีกาที่ 3640/2546 ต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณบังคับจำเลย
กฎหมายใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่ากฎหมายเก่าแต่ก็บัญญัติให้ลงโทษจำคุกและปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้จำคุกและปรับเท่านั้น  ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย

คำพิพากษาฎีกาที่ 469/2547 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช่กระทำผิด
การที่จำเลยใช้กระดาษหนังสือนิตยสารห่อหุ้มเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ววางไว้ที่ตะแกรงด้านหน้ารถจักรยานยนต์ของกลางโดยเปิดเผย ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่  2715/2531 เรียกรับทรัพย์สิน
การที่จำเลยเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายโดยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อช่วยเหลือให้ จ. เข้ารับราชการโดยไม่ต้องสอบคัดเลือกนั้น  แม้ผู้เสียหายจะไม่หลงเชื่อคำกล่าวอ้างของจำเลย และไม่มีเจตนาจะมอบเงินให้แก่จำเลย  โดยได้ไปแจ้งความแล้วนำเงินของเจ้าพนักงานตำรวจมาหลอกให้จำเลยรับไว้เป็นหลักฐานในการจับกุมก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ฐานเป็นคนกลางเรียกรับทรัพย์สินโดยทุจริต

คำพิพากษาฎีกาที่  187/2507 ป้องกันโดยชอบ
จำเลยกระทำผิดซึ่งหน้า ในความผิดลหุโทษเวลากลางคืนแล้วหลบหนีเข้าบ้านของจำเลย  ที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ไล่จับรู้จักอย่างดีแล้วเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยจำหลบหนีต่อไปอีกไม่ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งตามความในมาตรา 96(2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เจ้าพนักงานตำรวจผู้ไล่จับไม่มีอำนาจเข้าไปจับกุมจำเลยในบ้านเรือนจำเลยอันเป็นที่รโหฐานได้  การที่จำเลยเงื้อมีดจะฟันตำรวจที่เข้ามาจับถือว่าเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยให้พ้นภยันตรายพอสมควร

คำพิพากษาฎีกา อาวุธปืน

คำพิพากษาฎีกาที่ 5986/2545 อาวุธปืน

เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนไม่มี เครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครอง ก็เป็นความผิดฐาน มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงให้ได้ ว่าอาวุธปืนนั้นจะใช้ยิงได้หรือไม่อีก ส่วนความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ใน ครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นความผิดตามบทมาตราเดียวกับฐานมี อาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การที่ จำเลยจะมีเครื่องกระสุนปืนขนาดเดียวกับที่จะใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ใน ครอบครองหรือไม่จึงไม่เป็นข้อสาระสำคัญ

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2560/2546/ฎีกาสร้างบ้านโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเป็นรุกล้ำโดยสุจริตไม่ต้องรื้อ

นาง สุนีย์ วิทย์พิบูลย์รัตน์ โจทก์ นาง เคียง จิตวง จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา 1312 ป.วิ.พ. มาตรา 142

การที่จะถือว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริต จะต้องดูจากขณะที่ก่อสร้างผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่นถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริต ถ้าไม่รู้ว่าเป็นของบุคคลอื่น โดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไป ครั้นภายหลังจึงรู้ความจริง ย่อมถือว่าเป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต
ขณะจำเลยก่อสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งโจทก์และจำเลยต่างไม่รู้ว่าโรงเรือนดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ต่างฝ่ายต่างเพิ่งมาทราบในภายหลัง แม้ว่าจำเลยไม่ได้รังวัดสอบเขตก่อนที่จะก่อสร้าง แต่ขณะจำเลยก่อสร้างบ้านโจทก์ก็รู้เห็นด้วยมิได้โต้แย้ง กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันจะเป็นการทำโดยไม่สุจริตได้ ต้องฟังว่าจำเลยก่อสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ โดยสุจริต

ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าใช้ที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเป็นค่าชดใช้ที่ดินของโจทก์ไม่ได้เป็นการเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 24811 เนื้อที่ 42 8/10 ตารางวาจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 24810 เนื้อที่ 17 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 1/3ซึ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าว ซึ่งที่ดินของจำเลยนี้ติดต่อกับที่ดินของโจทก์ดังกล่าวทางทิศตะวันตก ต่อมาประมาณปี 2540 โจทก์ตรวจสอบที่ดินโจทก์ ปรากฏว่าบ้านเลขที่ 1/3 ปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดิน โจทก์คิดเป็นเนื้อที่ 7.5 ตารางวา โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 1/3 ออกจากที่ดินโจทก์ และห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยออกค่าใช้จ่าย

จำเลยให้การว่า ที่ดินจำเลยติดต่อที่ดินของนายสุยงสามีโจทก์โดยซื้อมาจากนางระเบียบ ปรางศ์เพ็ชร หลังจากนั้นได้ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 1/3 ในที่ดินดังกล่าวขณะปลูกสร้างบ้านโจทก์และสามีรู้เห็นยินยอม ทางราชการออกโฉนดที่ดินของโจทก์และจำเลยเมื่อปี 2522 ต่อมาปี 2538 โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านเลขที่ 1/3 รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์บางส่วน จำเลยบอกกล่าวต่อโจทก์ว่าขณะที่ซื้อที่ดินมาและปลูกสร้างบ้านดังกล่าวโจทก์และสามีมิได้คัดค้าน จำเลยไม่ทราบว่าบ้านของจำเลยรุกล้ำที่ดินโจทก์ จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2539ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2539 โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินโจทก์จำเลยจำเลยแจ้งว่าได้ครอบครองเป็นเจ้าของโดยสงบเปิดเผยตั้งแต่ปี 2522 นานกว่า 10 ปีและโจทก์ทราบถึงการเข้าอยู่อาศัยเกิน 1 ปี โจทก์ไม่ดำเนินการ คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 30,000 บาท แก่โจทก์เป็นค่าใช้ที่ดิน

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ในส่วนพื้นที่ในกรอบสีเขียวตามแผนที่เอกสารหมาย จ.ล.1 ทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมแล้วส่งคืนโจทก์โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่คู่กรณีไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่าจำเลยปลูกสร้างโรงเรือนเลขที่ 1/3 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 24811 ตำบลโพธิ์เสด็จอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ของโจทก์ โดยขณะปลูกสร้างโรงเรือนดังกล่าวทั้งโจทก์และจำเลยต่างไม่ทราบว่าโรงเรือนดังกล่าวปลูกรุกล้ำที่ดินของโจทก์ จนกระทั่งมีการตรวจสอบรังวัดเขตที่ดินเมื่อปี 2539 จึงทราบถึงการรุกล้ำดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยว่า จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนเลขที่ 1/3ดังกล่าวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า การที่จะถือว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตนั้น จะต้องดูจากขณะที่ก่อสร้างผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่น ถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริตแต่ถ้าในขณะที่ก่อสร้างไม่รู้ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของบุคคลอื่น เข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไป ครั้นมาภายหลังจึงรู้ความจริงก็ถือว่าเป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า ขณะจำเลยก่อสร้างโรงเรือนเลขที่ 1/3 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์นั้น ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็ไม่รู้ว่าโรงเรือนดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็เพิ่งมาทราบถึงการปลูกสร้างรุกล้ำในภายหลัง แม้ว่าจำเลยไม่ได้รังวัดสอบเขตก่อนที่จะก่อสร้าง แต่ขณะจำเลยก่อสร้างบ้านโจทก์ก็รู้เห็นด้วยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันจะเป็นการทำโดยไม่สุจริตได้ ต้องฟังว่าจำเลยก่อสร้างโรงเรือนเลขที่ 1/3 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยสุจริตที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8วินิจฉัยว่า ก่อนทำการปลูกสร้าง จำเลยไม่รังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินก่อน จึงเป็นการปลูกสร้างตามอำเภอใจเป็นก่อสร้างประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไปว่าจำเลยจะต้องเสียเงินให้แก่โจทก์เป็นค่าใช้ที่ดินของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าใช้ที่ดิน ดังนั้น ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเป็นค่าชดใช้ที่ดินของโจทก์ไม่ได้ เป็นการเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะไปว่ากล่าวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ( มานะ ศุภวิริยกุล - วิรัช ลิ้มวิชัย - สดศรี สัตยธรรม )

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561

รวมคำพิพากษา สู้คดีรถขน(ละเมิด)

คำพิพากษาเลขคดีที่ 4390/2531

คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ราษฎรย่อมไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาโดยจำเลย เป็นผู้ฎีกา แม้ศาลฎีกาพิพากษายืน ก็ให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม

คำพิพากษาเลขคดีที่ 3869/2531
จำเลยขับรถยนต์โดยสารแซงรถยนต์บรรทุกของโจทก์และชน รถยนต์บรรทุกของโจทก์ในขณะที่รถยนต์บรรทุกของโจทก์กำลังเลี้ยวขวา แม้รถยนต์บรรทุกไม่ได้เลี้ยวตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด แต่การที่ รถยนต์บรรทุกของโจทก์ขับชิดทางด้านซ้ายตลอดมาจนกระทั่งเกิดเหตุ ไม่ได้ขับชิดทางด้านขวาของเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนในขณะให้สัญญาณไฟ เลี้ยวขวาเพื่อเป็นการเตรียมที่จะเลี้ยวขวา ดังนี้ รถยนต์บรรทุก ของโจทก์มีส่วนประมาท ก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย โจทก์จึงควรมีส่วนรับผิดในค่าเสียหายที่รถยนต์โดยสารก่อขึ้น หนึ่งในสาม

คำพิพากษาเลขคดีที่ 3557/2531
การที่จำเลยขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส และรถจักรยานยนต์ ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายนั้น ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) ประกอบด้วย มาตรา 157 และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 การกระทำของ จำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นบทหนัก เมื่อเกิดเหตุชนแล้ว จำเลยได้หลบหนีและไม่ให้ความช่วยเหลือ ผู้เสียหาย ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียง ทันที เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากผู้เสียหายได้ขับ รถจักรยานยนต์ชนรถยนต์คันที่จำเลยเป็นผู้ขับขี่ตัดหน้าซึ่งเป็น การกระทำโดยเจตนาของจำเลยแยกต่างหากจากการกระทำครั้งแรก อันเป็นเรื่องต่างกรรม จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง

หลักนิติรัฐ

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยยึดหลัก การปกครองประเทศโดยกฎหมาย หรือเรียกว่า หลักนิติรัฐ 
           หลักนิติรัฐ คือ การปกครองโดย กฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่นำมาใช้นั้นจะต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่มาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง หลักนิติรัฐ มีหลักการดังนี้คือ
รัฐและฝ่ายปกครองจะต้องใช้กฎหมายที่ประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนบัญญัติเป็นหลักในการปกครอง
การดำเนินกิจการใดๆก็ตามของรัฐและฝ่ายปกครองจะต้องดำเนินไปตามกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องเป็นไปตามหลักแห่งความยุติธรรม
รัฐและฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้
การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองต้องตรวจสอบและควบคุมได้
จะเห็นว่าหลักนิติรัฐที่ใช้ในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยนี้ เป็นหลักของการปกครองที่ถือว่า คนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และมีความเสมอภาคกัน  ดังนั้นผู้ที่มาปกครองประเทศจึงเป็นเพียงตัวแทนของประชาชน แต่อย่างไรก็ดีการที่ผู้แทนของประชาชนจะทำการปกครองประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้นั้น จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจและกำหนดหน้าที่ไว้  ซึ่งการปกครองดังกล่าว  ประชาชนจะต้องไม่ถูกละเมิดจากการใช้อำนาจของผู้ปกครองโดยขาดความยุติธรรม  ไม่ว่าผู้ปกครองประเทศจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจการปกครองตามกฎหมายก็ตามซึ่งหากผู้ปกครองใช้อำนาจที่เกินเลยหรือเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้หรือทำการปกครองให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือเกิดความเสียหาย  ประชาชนมีสิทธิเรียกร้องขอความเป็นธรรมและตรวจสอบการใช้อำนาจได้
           ฉะนั้น หลักนิติรัฐ ถือกำเนิดมาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการใช้อำนาจองผู้ปกครองโดยขาดความเป็นธรรมเป็นสำคัญ
           ถึงแม้ว่าเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยของแต่ละประเทศนั้นจะมีความแตกต่างกัน  อย่างไรก็ดีหลักการที่สำคัญของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นของประเทศใดก็ตามต่างก็ยึดหลักสำคัญ 3 ประการที่เหมือนกันดังต่อไปนี้คือ
           ประการที่หนึ่ง การบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจ
           เนื่องจากหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นถือว่าประชาชนทุกๆคนต่างก็มีความเท่าเทียมกัน  มีความเสมอภาคกัน ดังนั้นการที่คนผู้หนึ่งผู้ใดหรือกลุ่มคนหนึ่งกลุ่มคนใดจะมีอำนาจในการปกครองประเทศได้นั้นจะต้องได้รับมอบอำนาจจากประชาชนส่วนใหญ่
           ฉะนั้นรัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติเรื่องของอำนาจที่จะนำมาใช้ในการปกครองประเทศคือ  บัญญัติถึงที่มาและการใช้อำนาจเป็นสำคัญ
           ประการที่สอง  การบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่
           หลังจากมีการบัญญัติในเรื่องเกี่ยวกับการที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้มอบอำนาจให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือกลุ่มคนหนึ่งกลุ่มคนใดซึ่งเราเรียกว่า  ตัวแทน นั้นรัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติต่อไปอีกในเรื่องหน้าที่ของตัวแทน อาทิเช่น ตัวแทนจะสามารถใช้อำนาจตามหน้าที่ได้อย่างไร ด้วยวิธีการใด ต้องผ่านองค์กรใดบ้าง รวมทั้งบัญญัติถึงขอบเขตของการใช้อำนาจตามหน้าที่ว่ามีมากน้อยเพียงใด
           ประการทีสาม  การบัญญัติถึงการควบคุมการใช้อำนาจ
           เมื่อประชาชนได้มอบอำนาจให้แก่ตัวแทนเพื่อนำไปใช้ในการปกครองประเทศ  รวมทั้งมีการกำหนดขอบเขตการใช้อำนาจตามหน้าที่แล้วการควบคุมที่จะไม่ให้ตัวแทนของประชาชนนั้นใช้อำนาจกินขอบเขต  รัฐธรรมนูญจึงต้องบัญญัติถึงการควบคุมการใช้อำนาจของตัวแทนไว้  เนื่องจากการใช้อำนาจโดยทั่วจะเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่ใช้ดุลพินิจหรือความเห็นชอบของผู้ใช้อำนาจหรือตัวแทน ซึ่งดุลพินิจและความเห็นนั้นย่อมมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล  ฉะนั้นรัฐธรรมนูญจึงต้องบัญญัติถึงการควบคุมการใช้อำนาจของตัวแทนไว้  ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้ใช้อำนาจใช้อำนาจจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน
           จากหลักการสำคัญ 3 ประการของระบอบประชาธิปไตยซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายธรรมนูญนั้น บัญญัติไว้เพื่อใช้การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะไม่ให้ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหง ถูกเอารัดเอาเปรียบ  และถูกละเมิดจากการใช้อำนาจของผููู้ปกครองโดยขาดความเป็นธรรม  ซึ่งเมื่อพิจารณากันอย่างถ่องแท้แล้ว หลักสำคัญ 3 ประการดังกล่าวเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน  เนื่องจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจการปกครองได้เลือกสรรตัวแทนมาใช้อำนาจของประชาชนเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนเองซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดขอบเขตของอำนาจและหน้าที่ในการใช้อำนาจของตัวแทนไว้  และตัวแทนใช้อำนาจที่ได้รับจากประชาชนเกินขอบเขตและเกินกว่าอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยความไม่เหมาะสมขาดความเป็นธรรมมีวิธีป้องกันและแก้ไข  โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีองค์กรในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจของตัวแทนไว้อีกชั้นหนึ่ง  ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมตรงตามหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือหลักนิติรัฐ

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

ข้อแตกต่างระหว่างทรัพยสิทธิ กับบุคคลสิทธิ


             (๑) ทรัพยสิทธิมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สินโดยตรง เช่น ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใด ย่อมชอบที่จะใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผลติดตามเอาทรัพย์สินคืน และขัดขวางมิให้ผู้ใดสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเอาจากตัวทรัพย์ที่จำนองได้เสมอ ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะตกไปอยู่ที่ใด
                        บุคคลสิทธิ มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๔ แลมาตรา ๒๑๓ เช่นสิทธิตามสัญญาจ้างทำของย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้จ้างที่จะบังคับให้ผู้รับจ้างทำของนั้นให้แก่ตน
              (๒) ทรัพยสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดนอาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ สิทธิอาศัย ภารจำยอม และสิทธิอื่นๆ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ สิทธิยึดหน่วงบุริมสิทธิ จำนองและจำนำ เกิดขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้อำนาจไว้ ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ สิทธิในเครื่องหมายการค้าเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ สิทธิบัตรเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่สิทธิในชื่อเสียงแห่งธุรกิจ (business goodwill) ในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายไทยรับรองจึงมิใช้ทรัพยสิทธิ
                  บุคคลสิทธิ ย่อมเกิดขึ้นได้โดยนิติกรรม เช่นทำสัญญาจะซื้อขายทรัพย์ ทำสัญญาเช่า ให้กู้ยืมเงิน หรือเกิดโดยนิติเหตุ เช่นเมื่อมีการละเมิดเกิดขึ้น ผู้ถูกละเมิดย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดได้
              (๓) ทรัพยสิทธิ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทั่วไป คือบุคคลอื่นใดก็ตามมีหน้าที่ต้องงดเว้นไม่ขัดขวางต่อการใช้ทรัพยสิทธิของเจ้าของทรัพยสิทธิ เช่น ภารจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน จำนองตกติดไปกับทรัพย์เสมอ ไม่ว่าผู้ใดจะได้ทรัพย์ใต้ทรัพยสิทธิเหล่านี้ไปก็ต้องยอมรับรู้ทรัพยสิทธิเหล่านี้ จะขัดขวางหรือไม่ยอมให้ผู้ทรงทรัพยสิทธิใช้สอยหรือบังคับสิทธินั้นหาได้ไม่
                        บุคคลสิทธิ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น กล่าวคือคู่สัญญาเท่านั้นที่มีหน้าที่กระทำหรืองดเว้นการกระทำการตามสัญญา หรือในเรื่องละเมิดตามหลักทั่วไปก็ก่อให้เกิดหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่เฉพาะแก่ผู้ทำละเมิดเท่านั้น
                        คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๖/๒๕๑๐ สัญญาที่เจ้าของที่ดินยอมให้อาคารของเจ้าของที่ดินข้างเคียวรุกล้ำเข้ามาในที่ดินจนกว่าอาคารนั้นจะถูกรื้อไป แม้ไม่ได้จดทะเบียนจึงไม่ก่อให้เกิดทรัพยสิทธิ แต่ก็ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิซึ่งบังคับได้ระหว่างคู่สัญญา
               (๔) ทรัพยสิทธิ มีลักษณะคงทนถาวรและไม่หมดสิ้นไปโดยการไม่ใช้ เช่น กรรมสิทธิ์ แม้จะไม่ใช่นานเท่าใด ก็ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์อยู่ หาสูญสิ้นไปไม่ หรือจำนองย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่จำนองเสมอ ส่วนการที่มีผู้อื่นมาแย่งการครอบครองและได้กรรมสิทธิ์ไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ นั้นเป็นเรื่องได้กรรมสิทธิ์ไป เพราะผลแห่งการแย่งการครอบครองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มีข้อยกเว้นสำหรับทรัพยสิทธิอยู่ ๒ ประเภทเท่านั้น คือภารจำยอมและภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมาตรา ๑๓๙๙ และ ๑๔๓๔ บัญญัติว่า ถ้าไม่ใช้สิบปีย่อมสิ้นไป
                        บุคคลสิทธิมีลักษณะไม่ถาวร และย่อมสิ้นไปถ้ามิได้ใช้สิทธินี้ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ กำหนดเวลานี้เรียกว่า อายุความซึ่งมาตรา ๑๙๓/๙ ได้บัญญัติไว้ว่า สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ และอายุความนั้นมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๓/๓๐ ถึงมาตรา ๑๙๓/๓๕
                        คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕/๒๕๔๐ สิทธิของผู้เช้าซื้อซึ่งใช้เงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วที่จะบังคับผู้ให้เช่าซื้อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เช่าซื้อแก่ตนอันเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความโดยเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐


มาตรา 8
 คำว่า "เหตุสุดวิสัย" หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8509/2559
          พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ไม่ได้บัญญัติว่าเหตุสุดวิสัยที่เป็นเหตุให้นายจ้างต้องหยุดกิจการนั้นจะต้องเป็นเหตุรุนแรงถึงขนาดให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้โดยสิ้นเชิงเท่านั้น เพียงแต่บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุสำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ นายจ้างอาจหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้การที่โจทก์หยุดกิจการชั่วคราวเฉพาะลูกจ้างในแผนกผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ด้วยเหตุโรงงาน ผลิตชิ้นส่วนที่โจทก์ต้องสั่งซื้อเพื่อนำมาประกอบการผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ประสบอุทกภัยน้ำท่วมจนไม่สามารถประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนนำส่งแก่โจทก์ได้ ซึ่งเป็นเหตุที่มีผลกระทบโดยตรงต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจในกิจการของโจทก์ ถือว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75
             ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 คู่ความไม่อุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 หลังจากระยะเวลาในการบังคับคดีล่วงเลยมานานถึง 9 ปีเศษ ใกล้จะพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้วจึงนับว่าเป็นความบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยเสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสุดวิสัย เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่มีเหตุดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้อง อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่ศาลควรอนุญาตขยายระยะเวลาบังคับคดีให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2557 มีเหตุที่จะขยายระยะเวลา เนื่องจากรายงานผลการส่งคำบังคับยังไม่เข้าสำนวน โจทก์จึงสามารถยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีได้และตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์สืบทราบว่าจำเลยทำงานที่บริษัท บ. ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาบังคับคดีเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวแม้จะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกัน ก็ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน

วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561


                                     ประเภทของทรัพยสิทธิ

ทรัพยสิทธิประเภทกรรมสิทธิ์                      ทรัพยสิทธิประเภทตัดทอนกรรมสิทธิ์
1. กรรมสิทธิ์                                                    1. ภาระจำยอม
2. สิทธิครอบครอง                                            2. สิทธิอาศัยในโรงเรือน
3. ลิขสิทธิ์                                                        3. สิทธิเหนือพื้นดิน
4. สิทธิบัตร                                                     4. สิทธิเก็บกิน
5. เครื่องหมายการค้า                                       5. ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
                                               6. สิทธิจำนอง
                                               7. สิทธิจำนำ
                                               8. สิทธิยึดหน่วง
                                               9. บุริมสิทธิ

วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

อสังหาริมทรัพย์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน มีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย
เมื่อพิจารณาตามตัวบทแล้วอสังหาริมทรัพย์จะมีความหมายถึง
1.ที่ดิน คือ เนื้อที่หรือพื้นที่เป็นแปลง เป็นไร่  ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ใช่เนื้อที่หรือพื้นที่ก็จะไม่ใช่ที่ดิน เช่นขุดดินจากที่ดินไปเพื่อจะนำไปขาย ดินที่ถูกขุดขึ้นมาก็จะไม่ใช่ที่ดินไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป ความหมายตามมาตรา 139 นี้ ที่ดินจะหมายความเฉพาะพื้นดินที่เราเหยียบย่ำและอาศัยอยู่เท่านั้น (แต่ถ้าเป็นที่ดินตามความหมายในประมวลกฎหมายที่ดินจะหมายความรวมถึง ห้วย หนอง คลอง บึง ลำน้ำ และทะเลสาบด้วย ซึ่งจะกว้างกว่าความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ที่ดินโดยสภาพแล้วไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ดังนั้นในทางอาญาการลักทรัพย์ที่เป็นที่ดินจึงไม่อาจทำได้ แต่กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองสามารถในที่ดินเข้าแย่งได้ จึงไปเข้าความผิดฐานบุกรุกแทน
2.ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินที่มีลักษณะเป็นการถาวร  ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินนั้นมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์นำมาติดไว้ ซึ่งจะต้องเป็นการติดอยู่กับที่ดินที่มีลักษณะเป็นการถาวร คือ ไม่หลุดหรือแยกออกจากที่ดินได้โดยง่าย เช่น ต้นไม้(ไม่รวมถึงต้นไม้ในกระถาง ต้นไม้จะต้องมีรากชอนไชลงในพื้นดิน) อาคารบ้านเรือน ฯลฯ ในส่วนของต้นไม้นั้น มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้นไม้ที่จะเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องเป็นไม้ยืนต้น(ตามกฎหมายคือต้นไม้ที่มีอายุเกิน 3 ปี) ถ้าเป็นไม้ล้มลุกจะไม่ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น พืชผักต่างๆที่ใช้ในการบริโภค 
3.ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน คือทรัพย์ที่ประกอบเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินตามธรรมชาติ เช่น ดิน กรวด ทราย ก้อนหิน ภูเขาหิน ทางน้ำไหล แร่โลหะต่างๆตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและประกอบรวมกันเกิดเป็นที่ดินขึ้นมา ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างหรือนำมาติดไว้ แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่เกิดจากมนุษย์ เช่น ซื้อดินซื้อหินมาถมที่ ดินหินที่ถมลงไปก็จะกลายเป็นส่วนประกอบของที่ดินนั้นไป สังเกตว่าทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น ถ้านำหรือเคลื่อนย้ายออกจากที่ดินก็จะไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป

4.ทรัพยสิทธิต่างๆอันเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น(ทรัพยสิทธิมีอธิบายคร่าวๆในบทความเรื่องสิทธิตามกฎหมายเอกชน) ทรัพยสิทธิเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ไม่มีรูปร่างและแตะต้องสัมผัสไม่ได้ แต่มีราคา ยึดถือเป็นเจ้าของได้และต้องมีผู้ทรงสิทธิ เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน(ความเป็นเจ้าของที่ดิน) สิทธิครอบครอง(สิทธิในการครอบครองใช้ประโยชน์) สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิอาศัย ฯลฯ เหล่านี้คือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน ส่วนทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินก็คือสิทธิอาศัย(สิทธิที่จะได้อาศัยอยู่ในสิ่งปลุกสร้างบนที่ดิน) ซึ่งจะได้อธิบายโดยละเอียดต่อไปในภายหน้า

ฟ้องซ้อน             หลักกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 173 บัญญัติว่า นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้ ...