วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

อสังหาริมทรัพย์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน มีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย
เมื่อพิจารณาตามตัวบทแล้วอสังหาริมทรัพย์จะมีความหมายถึง
1.ที่ดิน คือ เนื้อที่หรือพื้นที่เป็นแปลง เป็นไร่  ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ใช่เนื้อที่หรือพื้นที่ก็จะไม่ใช่ที่ดิน เช่นขุดดินจากที่ดินไปเพื่อจะนำไปขาย ดินที่ถูกขุดขึ้นมาก็จะไม่ใช่ที่ดินไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป ความหมายตามมาตรา 139 นี้ ที่ดินจะหมายความเฉพาะพื้นดินที่เราเหยียบย่ำและอาศัยอยู่เท่านั้น (แต่ถ้าเป็นที่ดินตามความหมายในประมวลกฎหมายที่ดินจะหมายความรวมถึง ห้วย หนอง คลอง บึง ลำน้ำ และทะเลสาบด้วย ซึ่งจะกว้างกว่าความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ที่ดินโดยสภาพแล้วไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ดังนั้นในทางอาญาการลักทรัพย์ที่เป็นที่ดินจึงไม่อาจทำได้ แต่กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองสามารถในที่ดินเข้าแย่งได้ จึงไปเข้าความผิดฐานบุกรุกแทน
2.ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินที่มีลักษณะเป็นการถาวร  ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินนั้นมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์นำมาติดไว้ ซึ่งจะต้องเป็นการติดอยู่กับที่ดินที่มีลักษณะเป็นการถาวร คือ ไม่หลุดหรือแยกออกจากที่ดินได้โดยง่าย เช่น ต้นไม้(ไม่รวมถึงต้นไม้ในกระถาง ต้นไม้จะต้องมีรากชอนไชลงในพื้นดิน) อาคารบ้านเรือน ฯลฯ ในส่วนของต้นไม้นั้น มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้นไม้ที่จะเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องเป็นไม้ยืนต้น(ตามกฎหมายคือต้นไม้ที่มีอายุเกิน 3 ปี) ถ้าเป็นไม้ล้มลุกจะไม่ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น พืชผักต่างๆที่ใช้ในการบริโภค 
3.ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน คือทรัพย์ที่ประกอบเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินตามธรรมชาติ เช่น ดิน กรวด ทราย ก้อนหิน ภูเขาหิน ทางน้ำไหล แร่โลหะต่างๆตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและประกอบรวมกันเกิดเป็นที่ดินขึ้นมา ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างหรือนำมาติดไว้ แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่เกิดจากมนุษย์ เช่น ซื้อดินซื้อหินมาถมที่ ดินหินที่ถมลงไปก็จะกลายเป็นส่วนประกอบของที่ดินนั้นไป สังเกตว่าทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น ถ้านำหรือเคลื่อนย้ายออกจากที่ดินก็จะไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป

4.ทรัพยสิทธิต่างๆอันเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น(ทรัพยสิทธิมีอธิบายคร่าวๆในบทความเรื่องสิทธิตามกฎหมายเอกชน) ทรัพยสิทธิเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ไม่มีรูปร่างและแตะต้องสัมผัสไม่ได้ แต่มีราคา ยึดถือเป็นเจ้าของได้และต้องมีผู้ทรงสิทธิ เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน(ความเป็นเจ้าของที่ดิน) สิทธิครอบครอง(สิทธิในการครอบครองใช้ประโยชน์) สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิอาศัย ฯลฯ เหล่านี้คือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน ส่วนทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินก็คือสิทธิอาศัย(สิทธิที่จะได้อาศัยอยู่ในสิ่งปลุกสร้างบนที่ดิน) ซึ่งจะได้อธิบายโดยละเอียดต่อไปในภายหน้า

ฟ้องซ้อน             หลักกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 173 บัญญัติว่า นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้ ...