วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562

ละเมิด คือ อะไร
ละเมิด  คือ การกระทำใด ๆ ของบุคคลหรือการกระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบของบุคคล อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น อาจเป็นการกระทำของตนเอง การกระทำของบุคคลอื่น หรือความเสียหายที่เกิดจากทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองดูแล ผู้ได้รับความเสียหายนั้นชอบที่จะได้รับการเยียวยา โดยการเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทน หรือเรียกร้อง ให้ผู้ละเมิดปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติ ในลักษณะอื่น ๆ แล้วแต่กรณี

หลักการกระทำละเมิด * ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

องค์ประกอบของการกระทำที่เป็นละเมิด กล่าวคือ

1.กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2.กระทำโดยผิดกฎหมาย

3.การกระทำก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น

4.ความเสียหายเป็นผลมาจากการกระทำดังกล่าวนั้น

ส่วนละเมิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับด้วยเหตุผลว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์เฉพาะตัว ในการดำเนินงานบางครั้งอาจเกิดความเสียหายขึ้นโดยความไม่ตั้งใจและผิดพลาดเล็กน้อยแต่กลับต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัว และที่ผ่านมายังใช้หลักของลูกหนี้ร่วมทำให้เจ้าหน้าที่ต้องร่วมรับผิดในการกระทำของผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นระบบที่มุ่งจะให้ได้รับเงินชดใช้ค่าเสียอย่างครบถ้วนโดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะมีต่อแต่ละคน จึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และยังเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่จนบางครั้งเป็นปัญหาในการบริหารงานเพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจในการทำงานเท่าที่ควร ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงสมควรให้เจ้าหน้าที่รับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น และให้แบ่งแยกความรับผิดของแต่ละคน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรัฐ

ดังนั้นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน้าที่ของตนนั้นหากเกิดความเสียหายขึ้นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.2539 แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าทีนั้นต้องไม่ได้เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ การที่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ดังกล่าวนั้นเนื่องจากในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ บางกรณีอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดหรือเป็นเหตุสุดวิสัยโดยมิได้เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงส่งผลให้เกิดความเสียหายพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงบัญญัติคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไว้ ดังนี้

มาตรา 5 วรรคหนึ่ง “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐ ดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้”

แต่หากเจ้าหน้าที่กระทำการนอกเหนือหรือไม่ได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ปกติของตน เช่น เจ้าพนักงานการเงิน ไม่ได้มีหน้าที่ในการขับรถ แต่ได้ขับรถไปซึ่งมิใช่หน้าที่ของตน แล้วเกิดเฉี่ยวชนกับบุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย เป็นต้น ย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

มาตรา 6 บัญญัติว่า“ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้น เป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานรัฐไม่ได้” จะเห็นได้ว่าหากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อื่นนอกเหนือหน้าที่ของตนตามที่กฎ ระเบียบ กำหนดไว้แล้วรัฐไม่คุ้มครองแต่ถ้าได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนโดยชอบแล้วเมื่อเกิดความผิดพลาดไม่ว่าบุคคลใดได้รับความเสียหายหรือทำให้รัฐเองเสียหายก็ตาม หน่วยงานของรัฐ จะต้องเข้ารับผิดชดใช้ค่าเสียหายแทนเจ้าหน้าที่ แต่ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ตามความที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 8 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย เพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการอันเป็นไปด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

กรณีจะเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะต้องเป็นประมาทเลินเล่อเสียก่อนโดย “จะเป็นส่วนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจงใจกับประมาทเลินเล่อธรรมดา” คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตอบข้อหารือกรมบัญชีกลางว่า การที่จะพิจารณาว่ากรณีใดจะเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบทุกคน จนถึงคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หรือศาล ส่วนอย่างไรเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแต่ละกรณีไปความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะมีลักษณะไปในทางที่บุคคลนั้นได้กระทำไปโดยขาดความระมัดระวังที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐานอย่างมาก เช่น คาดเห็นได้ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นได้หรือหากใช้ความระมัดระวังสักเล็กน้อย ก็คงได้คาดเห็นการอาจเกิดความเสียหายนั้น นั้นเอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808/2561

การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคทั้งสองซึ่งประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดยการไม่ได้ให้คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าที่จำเลยขายแก่ผู้บริโภคทั้งสอง อันเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และตัดโอกาสของผู้บริโภคที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนั้นผู้บริโภคทั้งสองจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนี้ เป็นกรณีจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่มีมาตรา 4 ประกอบมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 รับรองไว้

จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริโภคทั้งสองซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัย สำหรับส่วนต่างราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาโดยปกปิดข้อเท็จจริง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้และศาลมีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี

ฟ้องซ้อน             หลักกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 173 บัญญัติว่า นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้ ...