วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ที่ดินพิพาท คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2328/2561

ที่ดินพิพาทที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ (ส.ป.ก. 4 - 01) ให้แก่ผู้ใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนทางราชการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินก็ตาม แต่เมื่อทางราชการประกาศให้ที่ดินพิพาทตั้งอยู่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนควบของที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดครอบครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสี่หาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) จำเลยทั้งสี่ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสี่ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท จึงเป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป
ทนายความหาดใหญ่

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตัวอย่างโจทย์ กฎหมายแพ่งและพาณิยช์

ตัวอย่างโจทย์ จันทร์ว่าจ้างอังคารสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ของจันทร์ ขณะที่ทำสัญญามีคนอื่นอยู่ในที่ดินหลายครัวเรือนจึงทำสัญญาตกลงกันว่า จันทร์จะต้องขับไล่หรือจัดให้คนที่อยู่ในที่ดินออกไปให้หมดภายในวันที่ 20 มกราคม 2560 เพื่ออังคารจะได้เข้าทำการก่อสร้างทันที ปรากฏว่าสิ้นสุดวันที่ 20 มกราคม 2560 จันทร์ไม่ได้ขับไล่ใครเลย ยังคงมีคนอื่นอยู่ในที่ดินเหมือนเดิม ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะอะไร
กรณีตามปัญหามีหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะต้องนำมาประกอบการวินิจฉัย ดังนี้
มาตรา 207 วางหลักไว้ว่า ถ้าลูกหนี้ของปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าไม่รับชำระนั้นโดยปราศจากมูลเหตุที่จะอ้างกฎหมายได้ๆไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
มาตรา 209 วางหลักไว้ว่า ถ้าได้กำหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อเจ้าหนี้กระทำการอันใด ท่านว่าที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้จะต้องทำก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทำการอันนั้นภายในเวลากำหนด
ข้อเท็จจริงตามปัญหา การที่จันทร์จ้างให้อังคารสร้างอังคารสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของตนเอง “โดยมีข้อตกลงกันว่าจันทร์ต้องจัดการไล่ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินออกไปให้หมดก่อนภายใน วันที่ 20 มกราคม 2560 เพื่ออังคารจะทำการสร้างอาคารพาณิชย์ได้” นั้นถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ต้องทำการบางอย่างในเวลากำหนดไว้แน่นอนก่อนที่จะให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ตามมาตรา 209
ต่อมาสิ้นสุดวันที่ 20 มกราคม 2560 ตามสัญญาแล้วปรากฏว่า จันทร์เจ้าหนี้ไม่ได้ไล่ผู้อาศัยในที่ดินจึงไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคารได้ตามสัญญา ถือว่า จันทร์เจ้าหนี้ไม่ทำการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คือการไล่ผู้อยู่อาศัยในที่ดินออกไปและส่งมอบพื้นที่ให้แก่อังคาร (ลูกหนี้) ทำให้จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัดทันที ตามมาตรา 207 ประกอบ 209 โดยที่อังคาร(ลูกหนี้) ไม่ขอปฏิบัติการชำระหนี้แต่ประการใด
สรุป จันทร์เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามมาตรา 207 ประกอบ 209      โดย...ทนายความหาดใหญ่

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561

การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้

ทนายความอาสา
การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้  แบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่สำคัญ
1.หลักเกณฑ์การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้
1.1 ลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องเหนือผู้อื่นที่มิใช่สิทธิเรียกร้องเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้
1.2 ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง
1.3การขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เป็นเหตุให้เจ้าหรนี้เสียประโยชน์
2.ขอบเขตและวิธีการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้
2.1 เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในนามของตนน้อง
2.2 เจ้าหนี้ต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย
2.3 เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้เต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้
2.4 บุคคลภายนอกอาจยกข้อต่อสู้ที่มีต่อลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้
3.ผลของการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ แม้การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะทำในนามของลูกหนี้แต่ก็เป็นการทำแทนลูกหนี้ ด้วยเหตุนี้ หากศาลพิพากษาให้ลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องชำระ สิ่งได้มาจากการชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพย์สินจะเป็นของลูกหนี้เดิมซึ่งเจ้าหนี้อื่นรวมทั้งตัวเจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องมีสิทธิบังคับชำระหนี้แก่ตนได้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เดิมนี้ ยกเว้นกรณี ตามมาตรา 234 วรรคหนึ่ง หากจำเลยยอมใช้เงินจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้ คือเจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้รับเงินโดยตรง จากลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องแล้วคดีเป็นอันเสร็จกันไป จะเรียกร้องอีกไม่ได้


วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14785/2555

คำพิพากษาย่อสั้น
ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ 25 มีนาคม 2542 แต่โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 โจทก์จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้น คดีในความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานความผิดนี้ จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเหตุเรื่องคดีขาดอายุความเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีขอแบ่งสินสมรส และบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรส แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันตามส่วน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายตามส่วนที่เป็นของตนเอง ส่วนการที่จำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2542 ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น หากจำเลยทั้งสองมีเจตนาก่อให้เกิดหนี้จริงก็เป็นหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีขอให้บังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติผิดข้อตกลงดังกล่าว ก็คงมีเพียงสิทธิบังคับคดีเอาจากสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อไม่พอจึงมีสิทธิบังคับเอาจากสินสมรสที่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 สิทธิในการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีผลกระทบสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในคดีที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ก็คงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงเฉพาะที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น หากแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลเกี่ยวกับมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ในคดีที่จำเลยที่ 2 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง ก็ไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้เลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จ

โทษทางอาญาคืออะไร ได้แก่อะไรบ้าง

โทษทางอาญา คือ สภาพบังคับของกฎหมายอาญาเมื่อมีการฝ่าฝืนกฎหมาย กำหนดประเภทของโทษไว้ 5 ประการ ได้แก่

1. ประหารชีวิต คือ การนำตัวไปยิงด้วยปืนให้ตาย

2. จำคุก คือ การนำตัวไปขังในเรือนจำตามที่กำหนดเวลาที่ศาลพิพากษา

3. กักขัง คือ การนำตัวไปกักขังหรือควบคุมไว้ ณ ที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ เช่น สถานีตำรวจ เป็นต้น

4. ปรับ คือ การลงโทษด้วยการปรับโดยให้ผู้กระทำผิดจ่ายเงินให้แก่รัฐ

5. ริบทรัพย์สิน คือ การริบเอาทรัพย์สินนั้นมาเป็นของรัฐ เช่น ปืนเถื่อน ไม้เถื่อน เหล้าเถื่อน เป็นต้น

## จำไว้ว่า ปรับ 500 ก็ ถือว่ามีโทษแรงกว่า ริบทรัพย์ 100 ล้าน เพราะ ปรับ คือ ปรับจากเงินที่หามาได้ ส่วนริบทรัพย์ คือ ริบจากลาภที่มิควรได้*

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คำพิพากษาฎีกา คดีอาญา

คำพิพากษาฎีกาที่  3887/2533  ฟ้องเท็จ
จำเลยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม เมื่อเอกสารที่ฟ้องไม่ใช่เอกสารปลอม ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นเท็จ  จำเลยย่อมมีความผิดฐานเอาความเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำผิดอาญา

คำพิพากษาฎีกาที่ 3640/2546 ต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณบังคับจำเลย
กฎหมายใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่ากฎหมายเก่าแต่ก็บัญญัติให้ลงโทษจำคุกและปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้จำคุกและปรับเท่านั้น  ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย

คำพิพากษาฎีกาที่ 469/2547 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช่กระทำผิด
การที่จำเลยใช้กระดาษหนังสือนิตยสารห่อหุ้มเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ววางไว้ที่ตะแกรงด้านหน้ารถจักรยานยนต์ของกลางโดยเปิดเผย ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่  2715/2531 เรียกรับทรัพย์สิน
การที่จำเลยเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายโดยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อช่วยเหลือให้ จ. เข้ารับราชการโดยไม่ต้องสอบคัดเลือกนั้น  แม้ผู้เสียหายจะไม่หลงเชื่อคำกล่าวอ้างของจำเลย และไม่มีเจตนาจะมอบเงินให้แก่จำเลย  โดยได้ไปแจ้งความแล้วนำเงินของเจ้าพนักงานตำรวจมาหลอกให้จำเลยรับไว้เป็นหลักฐานในการจับกุมก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ฐานเป็นคนกลางเรียกรับทรัพย์สินโดยทุจริต

คำพิพากษาฎีกาที่  187/2507 ป้องกันโดยชอบ
จำเลยกระทำผิดซึ่งหน้า ในความผิดลหุโทษเวลากลางคืนแล้วหลบหนีเข้าบ้านของจำเลย  ที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ไล่จับรู้จักอย่างดีแล้วเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยจำหลบหนีต่อไปอีกไม่ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งตามความในมาตรา 96(2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เจ้าพนักงานตำรวจผู้ไล่จับไม่มีอำนาจเข้าไปจับกุมจำเลยในบ้านเรือนจำเลยอันเป็นที่รโหฐานได้  การที่จำเลยเงื้อมีดจะฟันตำรวจที่เข้ามาจับถือว่าเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยให้พ้นภยันตรายพอสมควร

คำพิพากษาฎีกา อาวุธปืน

คำพิพากษาฎีกาที่ 5986/2545 อาวุธปืน

เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนไม่มี เครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครอง ก็เป็นความผิดฐาน มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงให้ได้ ว่าอาวุธปืนนั้นจะใช้ยิงได้หรือไม่อีก ส่วนความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ใน ครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นความผิดตามบทมาตราเดียวกับฐานมี อาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การที่ จำเลยจะมีเครื่องกระสุนปืนขนาดเดียวกับที่จะใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ใน ครอบครองหรือไม่จึงไม่เป็นข้อสาระสำคัญ

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

คำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2560/2546/ฎีกาสร้างบ้านโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเป็นรุกล้ำโดยสุจริตไม่ต้องรื้อ

นาง สุนีย์ วิทย์พิบูลย์รัตน์ โจทก์ นาง เคียง จิตวง จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา 1312 ป.วิ.พ. มาตรา 142

การที่จะถือว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริต จะต้องดูจากขณะที่ก่อสร้างผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่นถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริต ถ้าไม่รู้ว่าเป็นของบุคคลอื่น โดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไป ครั้นภายหลังจึงรู้ความจริง ย่อมถือว่าเป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต
ขณะจำเลยก่อสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งโจทก์และจำเลยต่างไม่รู้ว่าโรงเรือนดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ต่างฝ่ายต่างเพิ่งมาทราบในภายหลัง แม้ว่าจำเลยไม่ได้รังวัดสอบเขตก่อนที่จะก่อสร้าง แต่ขณะจำเลยก่อสร้างบ้านโจทก์ก็รู้เห็นด้วยมิได้โต้แย้ง กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันจะเป็นการทำโดยไม่สุจริตได้ ต้องฟังว่าจำเลยก่อสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ โดยสุจริต

ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าใช้ที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเป็นค่าชดใช้ที่ดินของโจทก์ไม่ได้เป็นการเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 24811 เนื้อที่ 42 8/10 ตารางวาจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 24810 เนื้อที่ 17 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 1/3ซึ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าว ซึ่งที่ดินของจำเลยนี้ติดต่อกับที่ดินของโจทก์ดังกล่าวทางทิศตะวันตก ต่อมาประมาณปี 2540 โจทก์ตรวจสอบที่ดินโจทก์ ปรากฏว่าบ้านเลขที่ 1/3 ปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดิน โจทก์คิดเป็นเนื้อที่ 7.5 ตารางวา โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 1/3 ออกจากที่ดินโจทก์ และห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยออกค่าใช้จ่าย

จำเลยให้การว่า ที่ดินจำเลยติดต่อที่ดินของนายสุยงสามีโจทก์โดยซื้อมาจากนางระเบียบ ปรางศ์เพ็ชร หลังจากนั้นได้ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 1/3 ในที่ดินดังกล่าวขณะปลูกสร้างบ้านโจทก์และสามีรู้เห็นยินยอม ทางราชการออกโฉนดที่ดินของโจทก์และจำเลยเมื่อปี 2522 ต่อมาปี 2538 โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านเลขที่ 1/3 รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์บางส่วน จำเลยบอกกล่าวต่อโจทก์ว่าขณะที่ซื้อที่ดินมาและปลูกสร้างบ้านดังกล่าวโจทก์และสามีมิได้คัดค้าน จำเลยไม่ทราบว่าบ้านของจำเลยรุกล้ำที่ดินโจทก์ จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2539ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2539 โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินโจทก์จำเลยจำเลยแจ้งว่าได้ครอบครองเป็นเจ้าของโดยสงบเปิดเผยตั้งแต่ปี 2522 นานกว่า 10 ปีและโจทก์ทราบถึงการเข้าอยู่อาศัยเกิน 1 ปี โจทก์ไม่ดำเนินการ คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 30,000 บาท แก่โจทก์เป็นค่าใช้ที่ดิน

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ในส่วนพื้นที่ในกรอบสีเขียวตามแผนที่เอกสารหมาย จ.ล.1 ทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมแล้วส่งคืนโจทก์โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่คู่กรณีไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่าจำเลยปลูกสร้างโรงเรือนเลขที่ 1/3 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 24811 ตำบลโพธิ์เสด็จอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ของโจทก์ โดยขณะปลูกสร้างโรงเรือนดังกล่าวทั้งโจทก์และจำเลยต่างไม่ทราบว่าโรงเรือนดังกล่าวปลูกรุกล้ำที่ดินของโจทก์ จนกระทั่งมีการตรวจสอบรังวัดเขตที่ดินเมื่อปี 2539 จึงทราบถึงการรุกล้ำดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยว่า จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนเลขที่ 1/3ดังกล่าวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า การที่จะถือว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตนั้น จะต้องดูจากขณะที่ก่อสร้างผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่น ถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริตแต่ถ้าในขณะที่ก่อสร้างไม่รู้ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของบุคคลอื่น เข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไป ครั้นมาภายหลังจึงรู้ความจริงก็ถือว่าเป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า ขณะจำเลยก่อสร้างโรงเรือนเลขที่ 1/3 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์นั้น ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็ไม่รู้ว่าโรงเรือนดังกล่าวสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็เพิ่งมาทราบถึงการปลูกสร้างรุกล้ำในภายหลัง แม้ว่าจำเลยไม่ได้รังวัดสอบเขตก่อนที่จะก่อสร้าง แต่ขณะจำเลยก่อสร้างบ้านโจทก์ก็รู้เห็นด้วยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันจะเป็นการทำโดยไม่สุจริตได้ ต้องฟังว่าจำเลยก่อสร้างโรงเรือนเลขที่ 1/3 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยสุจริตที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8วินิจฉัยว่า ก่อนทำการปลูกสร้าง จำเลยไม่รังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินก่อน จึงเป็นการปลูกสร้างตามอำเภอใจเป็นก่อสร้างประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไปว่าจำเลยจะต้องเสียเงินให้แก่โจทก์เป็นค่าใช้ที่ดินของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าใช้ที่ดิน ดังนั้น ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเป็นค่าชดใช้ที่ดินของโจทก์ไม่ได้ เป็นการเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะไปว่ากล่าวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ( มานะ ศุภวิริยกุล - วิรัช ลิ้มวิชัย - สดศรี สัตยธรรม )

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561

รวมคำพิพากษา สู้คดีรถขน(ละเมิด)

คำพิพากษาเลขคดีที่ 4390/2531

คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ราษฎรย่อมไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาโดยจำเลย เป็นผู้ฎีกา แม้ศาลฎีกาพิพากษายืน ก็ให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม

คำพิพากษาเลขคดีที่ 3869/2531
จำเลยขับรถยนต์โดยสารแซงรถยนต์บรรทุกของโจทก์และชน รถยนต์บรรทุกของโจทก์ในขณะที่รถยนต์บรรทุกของโจทก์กำลังเลี้ยวขวา แม้รถยนต์บรรทุกไม่ได้เลี้ยวตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด แต่การที่ รถยนต์บรรทุกของโจทก์ขับชิดทางด้านซ้ายตลอดมาจนกระทั่งเกิดเหตุ ไม่ได้ขับชิดทางด้านขวาของเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนในขณะให้สัญญาณไฟ เลี้ยวขวาเพื่อเป็นการเตรียมที่จะเลี้ยวขวา ดังนี้ รถยนต์บรรทุก ของโจทก์มีส่วนประมาท ก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย โจทก์จึงควรมีส่วนรับผิดในค่าเสียหายที่รถยนต์โดยสารก่อขึ้น หนึ่งในสาม

คำพิพากษาเลขคดีที่ 3557/2531
การที่จำเลยขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส และรถจักรยานยนต์ ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายนั้น ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) ประกอบด้วย มาตรา 157 และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 การกระทำของ จำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นบทหนัก เมื่อเกิดเหตุชนแล้ว จำเลยได้หลบหนีและไม่ให้ความช่วยเหลือ ผู้เสียหาย ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียง ทันที เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากผู้เสียหายได้ขับ รถจักรยานยนต์ชนรถยนต์คันที่จำเลยเป็นผู้ขับขี่ตัดหน้าซึ่งเป็น การกระทำโดยเจตนาของจำเลยแยกต่างหากจากการกระทำครั้งแรก อันเป็นเรื่องต่างกรรม จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง

หลักนิติรัฐ

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยยึดหลัก การปกครองประเทศโดยกฎหมาย หรือเรียกว่า หลักนิติรัฐ 
           หลักนิติรัฐ คือ การปกครองโดย กฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่นำมาใช้นั้นจะต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่มาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง หลักนิติรัฐ มีหลักการดังนี้คือ
รัฐและฝ่ายปกครองจะต้องใช้กฎหมายที่ประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนบัญญัติเป็นหลักในการปกครอง
การดำเนินกิจการใดๆก็ตามของรัฐและฝ่ายปกครองจะต้องดำเนินไปตามกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องเป็นไปตามหลักแห่งความยุติธรรม
รัฐและฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้
การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองต้องตรวจสอบและควบคุมได้
จะเห็นว่าหลักนิติรัฐที่ใช้ในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยนี้ เป็นหลักของการปกครองที่ถือว่า คนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และมีความเสมอภาคกัน  ดังนั้นผู้ที่มาปกครองประเทศจึงเป็นเพียงตัวแทนของประชาชน แต่อย่างไรก็ดีการที่ผู้แทนของประชาชนจะทำการปกครองประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้นั้น จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจและกำหนดหน้าที่ไว้  ซึ่งการปกครองดังกล่าว  ประชาชนจะต้องไม่ถูกละเมิดจากการใช้อำนาจของผู้ปกครองโดยขาดความยุติธรรม  ไม่ว่าผู้ปกครองประเทศจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจการปกครองตามกฎหมายก็ตามซึ่งหากผู้ปกครองใช้อำนาจที่เกินเลยหรือเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้หรือทำการปกครองให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือเกิดความเสียหาย  ประชาชนมีสิทธิเรียกร้องขอความเป็นธรรมและตรวจสอบการใช้อำนาจได้
           ฉะนั้น หลักนิติรัฐ ถือกำเนิดมาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการใช้อำนาจองผู้ปกครองโดยขาดความเป็นธรรมเป็นสำคัญ
           ถึงแม้ว่าเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยของแต่ละประเทศนั้นจะมีความแตกต่างกัน  อย่างไรก็ดีหลักการที่สำคัญของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นของประเทศใดก็ตามต่างก็ยึดหลักสำคัญ 3 ประการที่เหมือนกันดังต่อไปนี้คือ
           ประการที่หนึ่ง การบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจ
           เนื่องจากหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นถือว่าประชาชนทุกๆคนต่างก็มีความเท่าเทียมกัน  มีความเสมอภาคกัน ดังนั้นการที่คนผู้หนึ่งผู้ใดหรือกลุ่มคนหนึ่งกลุ่มคนใดจะมีอำนาจในการปกครองประเทศได้นั้นจะต้องได้รับมอบอำนาจจากประชาชนส่วนใหญ่
           ฉะนั้นรัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติเรื่องของอำนาจที่จะนำมาใช้ในการปกครองประเทศคือ  บัญญัติถึงที่มาและการใช้อำนาจเป็นสำคัญ
           ประการที่สอง  การบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่
           หลังจากมีการบัญญัติในเรื่องเกี่ยวกับการที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้มอบอำนาจให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือกลุ่มคนหนึ่งกลุ่มคนใดซึ่งเราเรียกว่า  ตัวแทน นั้นรัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติต่อไปอีกในเรื่องหน้าที่ของตัวแทน อาทิเช่น ตัวแทนจะสามารถใช้อำนาจตามหน้าที่ได้อย่างไร ด้วยวิธีการใด ต้องผ่านองค์กรใดบ้าง รวมทั้งบัญญัติถึงขอบเขตของการใช้อำนาจตามหน้าที่ว่ามีมากน้อยเพียงใด
           ประการทีสาม  การบัญญัติถึงการควบคุมการใช้อำนาจ
           เมื่อประชาชนได้มอบอำนาจให้แก่ตัวแทนเพื่อนำไปใช้ในการปกครองประเทศ  รวมทั้งมีการกำหนดขอบเขตการใช้อำนาจตามหน้าที่แล้วการควบคุมที่จะไม่ให้ตัวแทนของประชาชนนั้นใช้อำนาจกินขอบเขต  รัฐธรรมนูญจึงต้องบัญญัติถึงการควบคุมการใช้อำนาจของตัวแทนไว้  เนื่องจากการใช้อำนาจโดยทั่วจะเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่ใช้ดุลพินิจหรือความเห็นชอบของผู้ใช้อำนาจหรือตัวแทน ซึ่งดุลพินิจและความเห็นนั้นย่อมมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล  ฉะนั้นรัฐธรรมนูญจึงต้องบัญญัติถึงการควบคุมการใช้อำนาจของตัวแทนไว้  ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้ใช้อำนาจใช้อำนาจจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน
           จากหลักการสำคัญ 3 ประการของระบอบประชาธิปไตยซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายธรรมนูญนั้น บัญญัติไว้เพื่อใช้การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะไม่ให้ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหง ถูกเอารัดเอาเปรียบ  และถูกละเมิดจากการใช้อำนาจของผููู้ปกครองโดยขาดความเป็นธรรม  ซึ่งเมื่อพิจารณากันอย่างถ่องแท้แล้ว หลักสำคัญ 3 ประการดังกล่าวเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน  เนื่องจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจการปกครองได้เลือกสรรตัวแทนมาใช้อำนาจของประชาชนเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนเองซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดขอบเขตของอำนาจและหน้าที่ในการใช้อำนาจของตัวแทนไว้  และตัวแทนใช้อำนาจที่ได้รับจากประชาชนเกินขอบเขตและเกินกว่าอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยความไม่เหมาะสมขาดความเป็นธรรมมีวิธีป้องกันและแก้ไข  โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีองค์กรในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจของตัวแทนไว้อีกชั้นหนึ่ง  ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมตรงตามหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือหลักนิติรัฐ

ฟ้องซ้อน             หลักกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 173 บัญญัติว่า นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้ ...