วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ฟ้องซ้อน

            หลักกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 173 บัญญัติว่า นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้ ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น
1. หลักกฎหมายเรื่องฟ้องซ้อนนั้นเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
2. จะเป็นฟ้องซ้อนได้จะต้องมีคำฟ้อง 2 คำฟ้อง โดยคำฟ้องแรกอยู่ระหว่างพิจารณาจากนั้นโจทก์ก็เสนอคำฟ้องเข้ามาอีก คำฟ้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้น
2.1 การจะเป็นคำฟ้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างน้อยประกอบด้วย ประการแรก จะต้องมีสภาพแห่งข้อหา ประการต่อมา ต้องมีคำขอบังคับ
2.2 ตัวคำฟ้องอาจจะอยู่ในรูปของคำฟ้องแท้ๆ หรืออาจจะรูปที่เรียกชื่ออย่างอื่น เช่น คำร้องขอ หรือฟ้องแย้ง หรือคำร้องสอด หรือคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ หรือคำร้องขัดทรัพย์ก็ได้

ให้พิจารณาศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 7603/2548
ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3), 144, 173, 248
คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งการฎีกาในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นขอให้พิจารณาใหม่ก็อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกัน ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่คัดค้านดุลพินิจของศาลล่างทั้งสองที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาในชั้นขอให้พิจารณาใหม่ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ถือเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยฉบับลงวันที่ 13 ธันวาคม 2542 แล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ กรณีถือว่าคดีเกี่ยวกับคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยฉบับลงวันที่ 13 ธันวาคม 2542 อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2544 โดยอ้างเหตุเดิมอีกในระหว่างนั้น จึงเป็นการฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามมาตรา 173 วรรคสอง (1) มิใช่เรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้อน

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562


สรุปมาตราสำคัญพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
(ฉบับเตรียมสอบ)


การเป็นผู้ทำการแทนตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในศาลแขวงหรือศาลจังหวัด

ม.9 ว.2 กรณีตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล
-ว่างลง หรือ
-ไม่อาจปฏิบัติราชการได้
>ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน
>ถ้าไม่มีผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุด ก็ให้ ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาทำการแทน
>ถ้าไม่บุคคลตามว.2 ในว.3ให้อำนาจประธานศาลฎีกาจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนก็ได้
>ตามม.9 ว.ท้าย ผู้พิพากษาอาวุโส หรือผู้พิพากษาประจำศาล เป็นผู้ทำการแทน*ไม่ได้*
ข้อสังเกต การเป็นผู้ทำการแทนเป็นไปโดยของผลกฎหมาย ไม่อาจแต่งตั้ง/มอบหมายได้

อำนาจศาลแพ่งหรือศาลอาญาตามม.16ว.3

-มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งหรือศาลอาญา และ คดีนั้นเกิดขึ้นนอกเขตศาลฯ
-ศาลแพ่งหรือศาลอาญา มีอำนาจ
1.ใช้ดุลยพินิจรับไว้พิจารณา
2.มีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอำนาจ
*ข้อสังเกต
-ศาลอาญา ถ้าไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับฟ้องไว้จะมีคำสั่งโอนคดีไม่ได้ แต่ถ้าเพียงแต่ไต่สวนมูลฟ้อง ยังไม่ถึงขั้นประทับฟ้องย่อมมีดุลยพินิจที่จะสั่งปฏิเสธไม่รับไว้พิจารณาหรือโอนคดีไปได้
-ศาลแพ่ง ถ้าในโอกาสแรกมีโอกาสใช้ดุลยพินิจได้ กลับไม่ใช้ ย่อมถือได้ว่าได้ใช้ดุลยพินิจรับฟ้องไว้โดยปริยาย

อำนาจศาลแขวงตามม.17

คืออำนาจผู้พิพากษาคนเดียวตามม.24และม.25 ว.1

อำนาจผู้พิพากษาคนหนึ่งในทุกชั้นศาล (ม.24)***
(1)ออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้คนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น
(2)*ออกคำสั่งใดๆซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี

อำนาจผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น (ม.25)***
(1)ไต่สวนและวินิจฉัยคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง
*ข้อพิจารณา ม.25(1)ให้ดูเทียบกับม.24(2)*
ความเหมือน

-มีอำนาจสั่งได้ไม่ว่าจะคดีแพ่งหรือคดีอาญา
-คดีแพ่งไม่มีข้อจำกัดเรื่องทุนทรัพย์ คดีอาญาไม่มีข้อจำกัดเรื่องอัตราโทษ
-ต้องไม่มีผลเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี

ความต่าง

1.ม.24(2) เป็นอำนาจผู้พิพากษาคนหนึ่งในทุกชั้นศาลแต่ม.25(1)เป็นอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น
2.ม.24(2)ผู้พิพากษามีอำนาจออกคำสั่งเองโดยคู่ความมิได้ยื่นคำร้อง/คำขอ แต่ม.25(1)ต้องมีคู่ความยื่นคำร้อง/คำขอ จึงจะสั่งได้
3.ม.24(2) ต้องไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับว่าก่อนออกคำสั่งศาลต้องไต่สวนก่อน ส่วนม.25(1)จะมีการไต่สวนก่อนหรือไม่ก็ได้
(2)ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย (ตามป.อ.ม.39)
(3)ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา
*ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องอัตราโทษ ถ้าไต่สวนแล้วคดีมีมูลย่อมประทับฟ้องไว้พิจารณาได้
*แต่ถ้าไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นสมควรยกฟ้อง และคดีนั้นมีอัตราโทษเกินกว่าม.25(5)ผู้พิพากษาคนเดียวย่อมไม่อาจพิพากษายกฟ้องได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามม.31(1) ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างทำคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต้องแก้ปัญหาตามม.29(3)ต่อไป
(4)พิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท
4.1ต้องเป็นคดีมีทุนทรัพย์
ข้อสังเกต
# หากเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ย่อมไม่อยู่ในอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ต้องฟ้องต่อศาลจังหวัด
# คดีฟ้องขับไล่เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่ถ้าจำเลยให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์จะกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ต้องตีราคาที่ดินพิพาทคำนวณเป็นทุนทรัพย์ และที่สำคัญ จำเลยต้องให้การต่อสู้โดยอาศัยสิทธิของตนจึงจะทำให้เกิดเป็นประเด็นได้ ถ้าให้การว่าอยู่โดยอาศัยสิทธิคนอื่น ไม่ก่อให้เกิดประเด็น จึงไม่มีประเด็นในเรื่องนี้ ยังคงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ต่อไป
เว้นแต่ว่า บุคคลที่จำเลยอ้างว่าอยู่โดยอาศัยสิทธิเขานั้น เกิดร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีขึ้นมา ตามม.57(1) อ้างว่าที่ดินเป็นของผู้ร้องสอด(ต่อสู้กรรมสิทธิ์) อย่างนี้คำร้องสอดเปรียบเสมือนเป็นคำให้การ และฟ้องแย้งโจทก์ในตัว จึงมีผลเปลี่ยนจากคดีไม่มีทรัพย์เป็นคดีมีทุนทรัพย์ไป
# กรณีที่เป็นคดีมีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์รวมกันมา
1.ถ้าคำขอมีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์ สามารถแยกเป็นเอกเทศต่างหากจากกันได้ จะต้องพิจารณาแต่ละข้อหาแยกต่างหากจากกัน
2.คดีมีข้อหาเดียว กรณีมีคำหลักและคำขอรอง ทั้งมีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์ ให้พิจารณาคำขอหลักว่ามีทุนทรัพย์หรือไม่

4.2ทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสามแสนบาท

วิธีคำนวณทุนทรัพย์

1.ดอกเบี้ย/ค่าเช่า/ค่าเสียหาย นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้อง
2.โจทก์หลายคนฟ้องจำเลยคนเดียว
เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน > คิดทุนทรัพย์รวม
ใช้สิทธิเฉพาะตัว > คิดทุนทรัพย์แยกกัน
3.โจทก์คนเดียวฟ้องจำเลยหลายคน
ให้จำเลยร่วมกันรับผิด > คิดทุนทรัพย์รวม
เช่น นายจ้าง-ลูกจ้าง,ลูกหนี้ชั้นต้น-ผู้ค้ำ
ให้จำเลยแยกกันรับผิด > คิดทุนทรัพย์แยกกัน
เช่น ต่างคนต่างกู้ ,ต่างคนต่างทำละเมิด
4.โจทก์คนเดียวฟ้องจำเลยคนเดียวแต่สัญญาหลายฉบับ
เช่นสัญญากู้หลายฉบับ สัญญาค้ำประกันหลายฉบับ
จำง่ายๆว่า กู้-เช็ครวม แชร์-ค้ำแยก
5.คดีร้องขัดทรัพย์คิดตามราคาทรัพย์ที่ร้องขอให้ปล่อย
6.คดีที่จำเลยฟ้องแย้ง คิดทุนทรัพย์แยกต่างหากจากคดีเดิม
7.คดีที่มีการร้องสอดตามม.57(1)(3) คิดทุนทรัพย์แยกต่างหากจากคดีเดิม
8.กรณีอัยการขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามวิอาญาม.43 หรือผู้เสียหายขอค่าสินไหมทดแทนตามม.44/1ไม่คำนึงถึงว่า         ทุนทรัพย์ในส่วนแพ่งจะอำนาจศาลแขวงหรือไม่ แม้จะเกินสามแสนบาทก็ขอได้
(5)พิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท   หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ได้
*ข้อสังเกต
1.กรณีกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ดูบทหนัก
2.ความผิดหลายกรรม ให้ดูแต่ละกรรมแยกกัน
3.อัตราโทษที่ศาลลงให้ดู"โทษสุทธิ" ภายหลังเพิ่มโทษ,ลดโทษ,บวกโทษแล้ว
4.กรณีความผิดที่ฟ้องกับความผิดที่พิจารณาได้ความแตกต่างกัน
-ฟ้องบทเบาได้ความบทหนัก เกินอำนาจศาลแขวง เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกความประสงค์โจทก์ พิจารณาลงโทษตามที่โจทก์ฟ้อง
-ฟ้องบทหนักซึ่งอยู่ในอำนาจศาลจังหวัด ได้ความบทเบา ไม่ทำให้อำนาจฟ้องโจทกเปลี่ยนไปศาลจังหวัดมีอำนาจลงโทษจำเลยได้

**ม.25 ว.2 ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตามม.25(3)(4)(5)
แต่มาตรานี้ไม่ได้ห้ามผู้พิพากษาอาวุโส



อำนาจศาลจังหวัดตามม.18

ม.18 ภายใต้บังคับม.19/1 ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมอื่่น
-ถ้าเป็นคดีในอำนาจศาลแขวง และมีศาลแขวง ก็ต้องฟ้องศาลแขวง ศาลจังหวัดไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
-เว้นแต่จะเป็นกรณีตามม.19/1

ม.19/1
ว.1เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวง
-ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดยังอยู่ในชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลยังไม่ประทับรับฟ้อง > เป็นดุลยพินิจของศาลที่จะรับหรือไม่ก็ได้
- ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด ศาลนั้นได้มีคำสั่ง"รับฟ้อง"คดีนั้นไว้แล้ว > ศาลนั้นต้องพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป
ว.2 เป็นเรื่องที่ขณะ"ยื่นฟ้อง" คดีอยู่ในอำนาจศาลจังหวัด
แต่ต่อมาพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คดีอยู่ในอำนาจศาลแขวง >ศาลจังหวัดต้องพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป
ข้อสังเกต
- ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดแล้ว นำคดีมาฟ้องต่อศาลแขวง ศาลแขวงย่อมไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษา

กรณีมีเหตุสุดวิสัย/เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ (ม.28,29,30,31)

ม.28(ระหว่างพิจารณา)
1.กรณี มีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้
เกิดขึ้นใน"ระหว่างพิจารณา"
ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะไม่อาจนั่งพิจารณาคดีต่อไปได้
2. ผู้มีอำนาจแก้ปัญหา
-หัวหน้า หรือ ผู้ทำการแทน
-รองหัวหน้า
-ผู้พิพากษาในศาลนั้น ซึ่งหัวหน้าหรือผู้ทำการแทนมอบหมาย
(1)ศาลฎีกา(2)ศาลอุทธรณ์(3)ศาลชั้นต้น
3.วิธีแก้
ให้บุคคลตาม 2. มีอำนาจ นั่งพิจารณาคดีนั้นแทน
 ข้อสังเกต
-ระหว่างพิจารณาตามม.28 > ตั้งแต่ยื่นฟ้องถึงคดีเสร็จการพิจารณา
-กรณีศาลชั้นต้นให้โอกาสแก่จำเลยทั้งสองในการผ่อนชำระหนี้และเลื่อนการฟังคำพิพากษาไป มีผลเท่ากับมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาไป ไม่ใช่กรณีที่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้เสร็จลงเพราะเมื่อถึงกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นต้องสอบถามโจทก์และจำเลยทั้งสองก่อนว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ เพื่อประกอบดุลพินิจว่าจะให้โอกาสจำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ต่อไปหรือมีคำพิพากษาในวันดังกล่าว คดีจึงยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล (ฎ.5802/2554)
-การมอบหมายตามม.28(3) กรณีเป็นผู้พิพากษาประจำศาลไม่สามารถมอบหมายให้ทำหน้าที่ได้ ในกรณี
1.ใช้อำนาจผู้พิพากษาคนเดียวตามม.25(3)(4)(5)
เพราะขัดต่อม.25ว.2
2.มอบหมายให้เป็นองค์คณะกับผู้พิพากษาประจำศาลด้วยกันไม่ได้ เพราะขัดต่อม.26

ม.29(ระหว่างทำคำพิพากษา)
1.กรณี มีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ เกิดขึ้นใน"ระหว่างทำคำพิพากษา"
ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะไม่อาจนั่งพิจารณาคดีต่อไปได้
2. ผู้มีอำนาจแก้ปัญหา
-หัวหน้า หรือ ผู้ทำการแทน
-รองหัวหน้า
-*ไม่สามารถมอบหมายให้ทำแทนได้
(1)ศาลฎีกา(2)ศาลอุทธรณ์(3)ศาลชั้นต้น
3.วิธีแก้
ให้บุคคลตาม 2. มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา เมื่อได้ตรวจสำนวนแล้ว
*เฉพาะในศาลอุทธรณ์ ,ศาลชั้นต้น มีอำนาจทำความเห็นแย้ง
*ระหว่างทำคำพิพาษา คือ ช่วงที่คดีเสร็จการพิจารณา ถึง มีคำพิพากษา

กรณีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ม.30 กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณานั้น
1.พ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่
2.ถูกคัดค้านและถอนตัวไป
3.ไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถ
-นั่งพิจารณา หรือ
-ทำคำพิพากษาได้
ม.31 กรณีใช้อำนาจผู้พิพากษาคนเดียวแล้วเกิดปัญหา
(1)ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นควรยกฟ้อง
แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าม.25(5)
(2)ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามม.25(5)แล้วเห็นว่าควรลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เกินกว่าอัตราดังกล่าว
(3)การทำพิพากษาหรือคำสั่ง"คดีแพ่ง" จะต้องกระทำโดยองค์คณะผู้พิพากษาหลายคนและผู้พิพากษาในองค์คณะนั้นมี"ความเห็นแย้งกันจนหาเสียงข้างมากไม่ได้"
(4)ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามม.25(4)ไปแล้ว ต่อมาราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว

ข้อพิจารณาการปรับบทตามม.28,29,30,31
1.เหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ เป็นเหตุตามมาตราใด
             (ม.30หรือม.31)
2.เหตุนั้นเกิดขึ้นในระหว่างใด
                  (การพิจารณา(ม.28) หรือ ทำคำพิพากษา(ม.29))
3.เกิดขึ้นในศาลชั้นใด
                  (1)ศาลฎีกา(2)ศาลอุทธรณ์(3)ศาลชั้นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2562

ตัวอย่างฎีกา อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์                            

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2559

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคสอง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1567 (1), 1567 (2)

                             โจทก์และจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิง ว. โจทก์จึงมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตร และเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่น ซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายได้ ตาม ป.พ.พ. 1567 (1) และ (4) ขณะที่จำเลยพาผู้เยาว์ไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยที่สุราษฎร์ธานี ผู้เยาว์ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย แม้ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว จำเลยจะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนรับรองบุตร และต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยจะได้จดทะเบียนรับรองผู้เยาว์เป็นบุตรอันทำให้จำเลยมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ก็ตาม ก็หากระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ถูกต้องแห่งอำนาจฟ้องของโจทก์ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกบุตรคืนจากจำเลยได้

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562


คำพิพากษาศาลฎีกา เกี่ยวกับการหย่า
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2653/2561

ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรค หนึ่ง, 246, 247 (เดิม)
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

โจทก์ฟ้องขอหย่าและแบ่งสินสมรส ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ปลอม และใช้เอกสารปลอมต่อศาลอาญาว่า โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันและแบ่งทรัพย์สินตามที่เสนอต่อศาลในคดีอาญาโดยระบุว่าจะนำบันทึกข้อตกลงไปเสนอต่อศาลฎีกา แล้วโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญา ศาลอาญาอนุญาตและจำหน่ายคดีออกจากสาระบบความ จากนั้นโจทก์และจำเลยไปจดทะเบียนหย่าพร้อมนำบันทึกที่ทำต่อศาลอาญาไปแสดงว่ามีการตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างกันแล้ว ต่อมาโจทก์และจำเลยต่างยื่นคำแถลงต่อศาลฎีกาว่าได้จดทะเบียนหย่าแล้ว พร้อมยื่นข้อตกลงที่ทำต่อกันที่ศาลอาญาแนบท้ายคำแถลง ดังนี้ถือได้ว่าคู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้ถอนฟ้องในชั้นฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคหนึ่ง มาตรา 246 (เดิม) และ 247 (เดิม) ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2561

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1526
โจทก์ฟ้องจำเลยขอหย่า ขอแบ่งสินสมรส ขอถอนอำนาจปกครองจำเลย และขอให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยยินยอมที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว การที่โจทก์จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนได้นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ครบหลักเกณฑ์ 3 ประการว่า เหตุแห่งการหย่าในคดีนี้เป็นความผิดของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว การหย่านั้นทำให้โจทก์ยากจนลงเพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่และโจทก์จะต้องฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพมาในคดีฟ้องหย่า เมื่อคดีนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระหว่างพิจารณาโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีประเด็นฟ้องหย่าต่อศาลให้วินิจฉัย และไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 เมื่อมิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ ย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8333/2560

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 155 วรรคหนึ่ง, 1531, 1532, 1600
ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบบ้านเลขที่ 100/15 และ 100/18 หมู่ที่ 14 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมโฉนดที่ดินเลขที่ 47731 และโฉนดที่ดินเลขที่ 168290 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ให้จำเลยชำระเป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อัตราเดือนละ 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรีเนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 47731 เลขที่ดิน 504 ตำบลบางบัวทอง (หนองเชียงโคต) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 59 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 100/15 หมู่ 14 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าว โดยปลอดภาระจำนองให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่อาจดำเนินการได้ไม่ว่าเพราะกรณีใด ๆ ให้จำเลยใช้ราคาแทนเป็นเงิน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เงินเสร็จ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยฎีกา โดยโจทก์และจำเลยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายสวง กับนางบุญกอง นายสวงบิดาโจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน โดยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2549 บุคคลทั้งสองได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันและทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า โดยในข้อ 3 ของบันทึกดังกล่าวระบุว่า บ้านพร้อมที่ดินเลขที่ 100/15 อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายชายคือนายสวง ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 47731 อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยซื้อมาจากนายวิรัช เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 บนที่ดินพิพาทมีบ้านเดี่ยวสองชั้นตั้งอยู่ 2 หลัง แต่เลขที่เดียวกัน คือ บ้านเลขที่ 100/15 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2551 จำเลยขอเลขที่บ้านสำหรับบ้านอีกหลังหนึ่งเป็นบ้านเลขที่ 100/18 หลังจากนั้นนายสวงถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2552 ก่อนตายนายสวงได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 23 มีนาคม 2551 ยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลย วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท วันที่ 22 ตุลาคม 2553 จำเลยยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็น 2 แปลง โดยที่ดินอีกแปลงหนึ่งคือโฉนดเลขที่ 168290 อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีบ้านเลขที่ 100/18 ตั้งอยู่และอยู่ทางทิศเหนือติดทางสาธารณะ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 47731 ซึ่งมีบ้านเลขที่ 100/15 ตั้งอยู่และอยู่ทางทิศใต้ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสวง และมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของโจทก์ซึ่งยื่นคำร้องคัดค้านเข้าไปในคดีดังกล่าว ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2554 โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกว่ากระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกของนายสวงต่อศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดนนทบุรีกับศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ดินพิพาทพร้อมบ้านเดี่ยว 2 หลัง เป็นทรัพย์มรดกของนายสวงที่ตกทอดแก่โจทก์หรือไม่ ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า นายสวงกับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2533 และจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยได้ช่วยกันทำมาหากินและร่วมกันซื้อที่ดินพิพาท รวมทั้งร่วมกันปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดิน 2 หลัง จำเลยกับนายสวงจึงเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เมื่อจำเลยกับนายสวงจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกการหย่าโดยจำเลยตกลงยกที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 100/15 ให้นายสวง จำเลยจึงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแทนนายสวง เมื่อนายสวงถึงแก่ความตายจึงเป็นทรัพย์มรดกของนายสวงซึ่งตกทอดแก่โจทก์ จำเลยฎีกาและนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยซื้อ ที่ดินพิพาทก่อนจดทะเบียนสมรสกับนายสวง ซื้อด้วยเงินรายได้จากการทำโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่จำเลยลงทุนด้วยเงินที่จำเลยเก็บออมไว้จำนวนหนึ่ง จากการที่จำเลยเคยเดินทางไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอารเบีย และจำเลยกู้ยืมเงินจากธนาคารโดยจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 75882 และ 76883 ไว้เป็นหลักประกันเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2535 และที่ดินโฉนดเลขที่ 75875 จดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546 ที่ดินพิพาทพร้อมบ้านเดี่ยว 2 หลัง จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน แต่จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยเปิดโรงงานเย็บผ้ามาก่อนที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากับนายสวง จำเลยว่าจ้างรถรับจ้างเพื่อรับส่งเสื้อผ้า จึงรู้จักกับนายสวงซึ่งมีอาชีพขับรถรับจ้างตั้งแต่ปี 2533 และอยู่กินฉันสามีภริยาเมื่อปี 2534 จำเลยกับนายสวงย้ายภูมิลำเนาและย้ายโรงงานมาอยู่ที่อำเภอบางบัวทองเมื่อปี 2537 ได้ร่วมกันบริหารโรงงานโดยแบ่งงานกันทำ จำเลยซื้อที่ดินพิพาทเมื่อปี 2545 และต่อมาได้ร่วมกับนายสวงปลูกบ้าน 2 หลังบนที่ดินดังกล่าว เห็นว่า ขณะซื้อที่ดินพิพาทและปลูกบ้าน 2 หลัง จำเลยกับนายสวงได้ช่วยกันประกอบกิจการโรงงานเย็บผ้าแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น ที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน 2 หลัง จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับนายสวงทำมาหาได้ร่วมกัน จำเลยกับนายสวงจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อมาว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยและนายสวงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ให้ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 142 (5) ข้อนี้จำเลยเบิกความรับว่า จำเลยจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าโดยตกลงยกที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 100/15 ให้แก่นายสวงบิดาโจทก์ แต่กระทำไปเพราะโมโหและประชดประชันที่นายสวงไปติดพันหญิงอื่น จำเลยไม่มีเจตนาที่จะหย่าและยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทดังกล่าวให้แก่นายสวงแต่อย่างใด อีกทั้งนายสวงไม่มีเจตนาที่จะรับ เพราะนายสวงรู้ว่าตนเองมีความผิดที่ไปคบหาหญิงอื่น จึงไม่ไปแจ้งโอนหรือจดทะเบียนในที่ดินและบ้านจนกระทั่งนายสวงถึงแก่ความตาย และในชั้นพิจารณาก็ได้ความว่าหลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว จำเลยกับนายสวงก็ยังอยู่กินฉันสามีภริยากันต่อไป และจำเลยยังเป็นผู้ดูแลนายสวงที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จนนายสวง ถึงแก่ความตาย เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากทางนำสืบสอดคล้องกับข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวว่า ภายหลังจากที่จำเลยกับนายสวงจดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับนายสวงยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแลนายสวงเมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่งนายสวงถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับนายสวงกระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไปเพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่นายสวงจึงใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของนายสวงที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้ ประกอบกับโจทก์มิใช่บุคคลภายนอก อย่างไรก็ตาม ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท เป็นทรัพย์สินที่นายสวงกับจำเลยทำมาหาได้ร่วมกัน จำเลยกับนายสวงจึงมีกรรมสิทธิ์คนละกึ่งหนึ่ง เมื่อนายสวงถึงแก่ความตาย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมของนายสวงจึงเป็นทรัพย์มรดกซึ่งตกทอดแก่จำเลยผู้เป็นภริยาและโจทก์ผู้เป็นบุตรซึ่งมีสิทธิรับมรดกของนายสวงคนละกึ่งหนึ่ง จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจำนองประกันหนี้หลังจากนายสวงตายไปแล้ว หนี้ดังกล่าวมิใช่หนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับนายสวง กองมรดกของนายสวงจึงไม่ต้องรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นสมควรให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 47731 เนื้อที่ 59 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 100/15 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโดยปลอดภาระจำนองนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งหมด แต่ได้ความว่าโจทก์มีสิทธิเพียงหนึ่งในสี่ส่วน จำเลยจึงมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วนของที่ดินทั้งสองแปลงโดยปลอดภาระจำนอง หากจำเลยไม่อาจดำเนินการได้ไม่ว่าเพราะกรณีใด ๆ ให้โจทก์กับจำเลยตีราคาทรัพย์พิพาท แล้วให้จำเลยใช้ราคาแทนแก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วน แต่ทั้งนี้ให้โจทก์ได้รับไม่เกิน 750,000 บาท ตามคำขอของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 47731 และเลขที่ 168290 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยปลอดภาระจำนองให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วน โดยให้โจทก์จำเลยแบ่งทรัพย์สินกันเอง เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งให้โจทก์หนึ่งในสี่ส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ทั้งนี้ให้ไม่เกินจำนวน 750,000 บาท ตามที่โจทก์ขอมาในฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การสิ้นสุดการสมรส 

เมื่อมีการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วการสมรสนั้นจะสิ้นสุดลง ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังนี้

๑. เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย
๒. เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนเพราะการสมรสนั้นตกเป็นโมฆียะ (ขอให้ดูเรื่องการสมรสที่เป็นโมฆะ)
๓. โดยการหย่า ซึ่งการหย่านั้น ทำได้ ๒ วิธี
๓.๑ หย่าโดยความยินยอม คือ กรณีที่ทั้งคู่ตกลงที่จะหย่ากัน ได้เอง กฎหมายบังคับว่าการหย่าโดยความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ และมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย ๒ คน และถ้าการสมรสนั้นมีการจด ทะเบียนสมรส (ตามกฎหมายปัจจุบัน) การหย่าก็ต้องไปจดทะเบียนหย่า ต่อนายทะเบียน ที่อำเภอหรือกิ่งอำเภอด้วยมิฉะนั้นการหย่าย่อมไม่สมบูรณ์
๓.๒ หย่าโดยคำพิพากษาของศาล กรณีนี้คู่สมรสฝ่ายหนึ่ง ประสงค์หย่า แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการหย่าจึงต้องมีการฟ้องหย่าขึ้นเหตุที่จะฟ้องอย่าได้คือ
(๑) สามีอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้หญิงอื่นเป็นภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องอย่าได้
(๒) สามีหรือภริยาประพฤติชั่วไม่ว่าความประพฤติเช่นนั้นเป็นความ ผิดอาญาหรือไม่ ความประพฤติเช่นนั้นเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
- ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างรายแรง
- ได้รับความถูกเกลียดชัง หากยังคงสถานะของความเป็นสามีภริยา กันต่อไป
- ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึ่งประกอบอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องอย่าได้
คำว่าประพฤติชั่ว" เช่น สามีเป็นนักเลงหัวไม้เที่ยวรังแกผู้อื่น เล่น การพนัน หรือสูบฝิ่น กัญชา เป็นต้น
(๓) สามีหรือภริยาทำร้ายทรมานร่างกายหรือจิตใจหมิ่นประมาทหรือ เหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเป็นการร้ายแรงด้วย อีกฝ่ายจึงจะฟ้อง หย่าได้
(๔) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน ๑ ปี อีกฝ่าย หนึ่งฟ้องหย่าได้ การละทิ้งร้างนี้ หมายถึง การที่ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่ง แต่หากไม่ เป็นการจงใจ ต้องติดต่อราชการไปชายแดน เช่นนี้ ไม่ถือเป็นการทิ้งร้าง
(๕) ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกจำคุกเกิน ๑ ปี โดยที่ อีกฝ่ายหนึ่งมิได้ มีส่วนในความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจ และการเป็นสามีภริยากันจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายฟ้องหย่าได้
(สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ตลอดมาเกิน ๓ ปี หรือแยกกัน อยู่ตามคำสั่งศาลเป็นเวลาเกิน ๓ ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(๗) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญหรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน ๒ ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดี อย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องอย่าได้
(๘) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลือ อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง ตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง แต่การกระทำนั้นต้องถึงขนาดที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนโดยเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึ่งประกอบ อีกฝ่ายหนึ่ง ฟ้องหย่าได้
(๙) สามีหรือภริยาเป็นบ้าตลอดมาเกิน ๓ ปี และความเป็นบ้านั้นมี ลักษณะยากที่จะหายได้และความเป็นบ้าต้องถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(๑๐) สามีหรือภริยาทำผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่อง ความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ เช่น สามีขี้เหล้า ชอบเล่นการพนัน ยอมทำหนังสือทัณฑ์บนไว้กับภริยาว่าตนจะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีกแต่ต่อ มากลับฝ่าฝืน เช่นนี้ ภริยาฟ้องหย่าได้
(๑๑) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง ซึ่งอาจเป็นภัยแก่อีก ฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้โรคดังกล่าว ต้องมีลักษณะเรื้อรัง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ฟ้องหย่าได้
(๑๒) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจ ร่วมประเวณีได้ ตลอดกาล คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2562


วิเคราะห์ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเรื่อง ...นิติกรรม....
                กฎหมายแพ่ง คือ  เป็นกฎหมายที่วางระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างบุคคลเกี่ยวกับสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมาย เช่น กฎหมายว่าด้วยนิติกรรม เอกเทศสัญญา ทรัพย์สิน ครอบครัว มรดก แต่งงาน
                ประเภทของกฎหมาย แบ่งตามความสัมพันธ์  ก็คือ กฎหมายเอกชน  คือ  กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน  มีลำดับศักดิ์เทียบเท่า กฎหมายพระราชบัญญัติ  คือ  เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ  ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งมีลักษณะของการนำไปใช้ ก็คือ กฎหมายสารบัญญัติ  เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิ  หน้าที่  และความรับผิดชอบของบุคคล  โดยจะกำหนดการกระทำที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดอันจะก่อให้เกิดสภาพบังคับ
                กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน นอกจากเป็นเครื่องมือในการปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์หรือในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแล้ว  ยังได้บัญญัติต่อไปถึงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำระหว่างบุคคลต่อบุคคล  ที่มีความผูกพันกันในทางกฎหมายว่า  จะมีผลผูกพันหรือการก่อนิติสัมพันธ์กันอย่างไร 
                วิเคราะห์กฎหมายที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันในที่นี้พูดถึง กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับนิติกรรม  นิติกรรม  หมายถึง  การใดๆ  อันทำลงไปโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  เพื่อจะก่อการเปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  หรือระงันซึ่งสิทธิ์
                องค์ประกอบนิติกรรม  นิติกรรมจะต้องเกิดจากการกระทำของบุคคล  และประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                1.  ต้องมีการแสดงเจตนาของบุคคล  หมายความว่า  บุคคลนั้นกระทำสิ่งใดลงไปเพื่อต้องการผลอย่างใดอย่างหนึ่งทางกฎหมาย  หรือมีความประสงค์ที่จะก่อความสัมพันธ์ขึ้นตามกฎหมาย  เช่น  การทำสัญญา  เป็นต้น
                2.  จะต้องเป็นการกระทำด้วยความสมัครใจ  กล่าวคือ  เมื่อมีการแสดงเจตนากระทำแล้ว  การกระทำนั้นจะต้องประกอบด้วยความสมัครใจอีกด้วย  เช่น  ไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากการข่มขู่หรือใช้กำลังบีบบังคับไม่ใช่การกระทำขณะไม่มีสติสัมปชัญญะ  ซึ่งอาจจะเป็นผลทะให้นิติกรรมไม่มีความสมบูรณ์ได้
                3.  ต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย  ผลของนิติกรรมนั้นกฎหมายยอมรับในการคุ้มครองและบังคับบัญชาให้เกิดผลตามที่เจตนากระทำ  ฉะนั้นการกระทำดังกล่าวนั้นจึงจะต้องการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย  เช่น  ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย  หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  เป็นต้น
                4.  จะต้องเป็นการที่กระทำที่มีเจตนาให้เกิดผลตามกฎหมาย  ผลตามกฎหมายของนิติกรรมนี้มีความสำคัญมาก  คือ  เมื่อนิติกรรมที่ได้ทำขึ้นมีความสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วจะเกิดผลซึ่งเรียกว่า  ความเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ                                                 
ความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรม นิติกรรมที่ทำขึ้นเองอาจจะเกิดความบกพร่องที่เป็นผลทำให้นิติกรรมนั้นไม่สมบูรณ์  ซึ่งตามกฎหมายเรียกความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมนี้ว่า  โมฆะกรรม  และ  โมฆียะกรรม  ในทางกฎหมายสองคำนี้มีความแตกต่างกันมาก  ดังนี้
                โมฆะกรรม  หมายถึง  การกระทำที่สูญเปล่า  เสียเปล่าไม่เกิดผลตามกฎหมายขึ้นมา  ฉะนั้น  เมื่อกล่าวถึงคำว่านิติกรรมที่เป็นโมฆะ  หมายถึง  นิติกรรมนั้นไม่เกิดผลหรือไม่มีความผูกพันในอันที่จะบังคับตามกฎหมายได้แต่อย่างไร
นิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้น  บุคคลทุกคนสามารถกล่าวอ้างหยิบยกขึ้นมาอ้างได้ว่า  นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ               
                โมฆียะกรรม เป็นนิติกรรมที่มีความสมบูรณ์อยู่  สามารถใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย  แต่อยู่ในเงื่อนไขที่ว่าอาจถูกยกเลิกซึ่งตามกฎหมายเรียกว่า  การบอกล้าง  นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ  เมื่อการบอกล้างแล้วโมฆียะกรรมนั้นจะต้องเป็นโมฆะ  ซึ่งแตกต่างกับโมฆะกรรมที่ไม่ต้องมีการบอกล้างแต่อย่างใดเลย  เพราะโมฆะกรรมนั้นไม่มีผลในกฎหมายเกิดขึ้นเลย
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการทำนิติกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน  เช่น นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะ นิติกรรมที่ทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้  เช่น  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ได้แก่  ที่ดินหรือทรัพย์ที่ติดกับที่ดิน  เช่น  บ้าน  ตามกฎหมายคู่สัญญาต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ได้แก่  เจ้าพนักงานที่ดิน    สำนักงานที่ดิน  ถ้ามิได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้  กล่าวคือ  ไม่ถูกต้องตามแบบ  เช่น  ทำสัญญาซื้อขายกันเอง  โดยมิได้ทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  สัญญาดังกล่าวจะตกเป็นโมฆะ  ถือว่าไม่มีการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินกันแต่อย่างใดเลย
                สรุป การกระทำของบุคคลในชีวิตประจำวันนั้นเมื่อมองดูเผินๆ  แล้ว  อาจจะเข้าใจว่า  เป็นการกระทำ  นิติกรรม  แต่ความจริง  แม้การกระทำหลายอย่างในชีวิตประจำวันจะเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ถ้าผู้กระทำไม่มีความประสงค์ที่จะให้มีความผูกพันหรือการบังคับกันตามกฎหมายอย่างจริงจังแล้ว  การกระทำดังกล่าวนั้นก็หากนิติกรรมไม่  เช่น  การกระทำตามอัธยาศัยไมตรีนัดเพื่อนไปดูภาพยนตร์  หรือนัดไปรับประทานอาหารร่วมกัน  แม้อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ไปตามที่นัดไว้  ตามกฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญา  เพราะการกระทำดังกล่าวยังไม่ถึงเกณฑ์ที่เรียกว่าเป็นการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลแต่อย่างใด

               

ฟ้องซ้อน             หลักกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 173 บัญญัติว่า นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้ ...